วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-การทำนา


ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-การทำนา

การทำนาของหาดใหญ่สมัยก่อน
จะมีมากที่แถว บ้านบางหัก
ส่วนที่คลองหวะจะมีเล็กน้อยทำพอกินพอใช้
เรียกว่าคนหนึ่งจะทำพอกินหนึ่งไร่ไม่เกินห้าไร่เท่านั้น

เรื่องการทำนานี้ส่วนหนึ่งมาจากคำบอกเล่าของลุงลัภย์
สมัยก่อนจะมีการทำนากันมากตั้งแต่สะพานดำ
แถว ๆ ที่ทำการชุมสายโทรศัพท์เขต 8 ฝั่งหาดใหญ่ใน
ไปจนถึงป้ายทางรถไฟอู่ตะเภา
เรียกกันว่าเป็นทุ่งนา
ที่ขึ้นชื่อมากก็คือ นาบ้านฉาง
เพราะการทำนาเหลือข้าวจำนวนมากเหลือจริง ๆ
ก็จะขายหรือชำระเป็นค่าเช่าที่ให้กับฉางข้าวหลวง
ที่มาตั้งไว้เป็นเสบียงกรังในการศึกสงคราม
หรือไว้ให้ข้าราชการได้น้ำไปกินได้

บ้านเมืองสมัยก่อนจะมีคนอยู่กันน้อยมาก
หมู่บ้านละ สองสามครอบครัว
หรือสามสี่ครอบครัวเป็นอย่างมาก
มีหลัก ๆ ก็ บ้านบางหัก บ้านฉาง บ้านกลาง บ้านเกาะเลียบ
บ้านเกาะเลียบ เหมือนหมู่บ้านเป็นเกาะอยู่กลางทุ่งนา
ส่วนต้นไม้ก็จะมีต้นเลียบเป็นส่วนมาก
(ถ้ามองจากปัจจุบันจะเป็นตึกรามบ้านช่องไปหมดแล้ว)
แต่ในสมัยก่อนจะเป็นทุ่งนาโล่งมองเห็นได้แต่ไกล

สำหรับ บ้านบางหัก
คนดั้งเดิมหรือคนแถวหมู่บ้านนี้เชื่อกันว่า
ชวดทอง ชวดอยู่
คือ ผู้เริ่มมาตั้งถิ่นฐานในบ้านหาดใหญ่
ละแวกโรงพยาบาลหาดใหญ่ ปัจจุบันที่มีศาลาอยู่
บางคนเชื่อว่า ท่านทั้งสองฝังอยู่ที่นี่
แต่บางคนว่า น่าจะเป็นเถ้ากระดูกฝังไว้บริเวณนี้
เพราะคนไทยสมัยก่อนก็ยังนิยมเผาศพมากกว่า
การฝังศพบางแห่งจะใช้เฉพาะเด็ก
ผู้หญิงตายท้องกลม กับตายโดยอุบัติเหตุ
แต่ช่วงหลัง ๆ คติธรรมเนียมดังกล่าวไม่ค่อยถือกันแล้ว

การทำนาสมัยก่อนทำเพื่อพอกินพอใช้ในครัวเรือน
เก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ไม่นิยมซื้อขายกัน
ใครมีข้าวเต็มยุ้งฉางถือว่าเป็นคนรวยมีฐานะ
แต่บางครั้งก็มีการขโมยข้าวกัน
โดยขโมยจะเอาไม้ไปแหย่รูร่องยุ้งฉาง
เพื่อให้ข้าวร่วงหล่นลงมาจะได้เก็บไปกินหรือเอาไปขาย
ส่วนมากมักจะทำตอนเจ้าของเผลอ
หรือครอบครัวไปงานบุญงานอื่น ๆ ไม่มีใครอยู่บ้าน

การทำนานั้น ถือเป็นคติพื้นบ้านว่า
ใครไม่ทำนาถือว่าเป็น คนเกียจคร้าน
ทำมากทำน้อยไม่ว่ากัน
ขอให้เป็นคนทำนาก็แล้วกัน
หรือมาช่วยกันลงแขกดำนา
ช่วยกันทำนาก็แล้วกัน

ชาวบ้านมักจะนิยมปลูกข้าวแข็ง
ประเภทที่เรียกว่า กินแล้วอยู่ทน อิ่มนาน
เพราะลูกหลานมาก ต้องกินข้าวกันหลายคนแล้ว
จึงต้องไ้ด้ข้าวประเภท กินทน กินนาน
ข้าวที่นิยมปลูกสมัยก่อนแถวหาดใหญ่มักจะเป็นพันธุ์
นางหงส์ หนักสด ลูกปลา ยายยอ สีปาหนัน ข้าวหัวนา
พูดง่าย ๆ ต้องเป็นข้าวที่ทนแล้ง ทนฝน ทนแดด

เพราะสมัยนั้นระบบน้ำก็ยังไม่ดีพอ
ต้องอาศัยน้ำฝน หรือน้ำธรรมชาติเป็นหลัก
ไม่มีการใส่ปุ๋ย แค่เปิดหรือให้น้ำเข้านาก็ได้แล้ว
ธาตุอาหารในดินยังดีอยู่
ปีไหนได้ข้าวน้อย ถือว่า เจ้าที่ไม่คุ้มครอง
ก็ต้องทำพิธีบวงสรวงขอพรให้คุ้มครองปีหน้าปีต่อไป

ส่วนการไถนา ถ้าไถกับวัวใช้สองตัวเทียม
แต่ถ้าไถกับควายใช้ตัวเดียวเทียม
หรือถ้ามีควายเป็นฝูงจะให้ลงไปเดินเวียน
เพื่อให้เดินย่ำพื้นที่นาที่เจิ่งนองด้วยน้ำ
หรือเรียกว่า เวียนควาย ทำให้ดินเป็นตม เป็นเทือก
ส่วนถ้าแปลงเล็ก หรือที่บุกรุกป่าใหม่ ๆ
ก็ใช้จอบสับเอาแล้วฝังเมล็ดข้าวเอา

ส่วนถ้าอยากให้ผลผลิตดีมากกว่าเดิม
ชาวบ้านจะไปหาซื้อปุ๋ยขี้ค้างคาวที่มาจากแถบเขารังเกียด
ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น เขารักเกียรติ
เพราะข้าราชการส่วนกลาง ไม่เข้าใจความหมาย
อาจจะปรารถนาดี แต่ประสงค์ร้าย เพื่อทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
ตามคำบอกเล่าของอาจารย์ผู้หนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว

เกียด คือ ชื่อนกประเภทหนึ่งของภาคใต้ (จำชื่อภาคกลางไม่ได้)
รังเกียด คือ รังนกที่นกประเภทนี้ืทำไว้เพื่อวางไข่
เขาลูกนี้จะอยู่ใกล้ ๆ กับภูเขาที่เดิมมีการระเบิดหินขาย
ตั้งอยู่ใกล้กับที่ทำการอำเภอรัตภูมิ (ห่างประมาณร่วมสิบกิโลเมตร)
ปัจจุบันยังมีชาวบ้านขึ้นไปหาขี้ค้างคาวบ้าง แต่น้อยกว่าเดิมมาก
เพราะแต่เดิมจะได้ขี้ค้างคาวแท้ ไม่ค่อยมีการเจอปนหินผุ
หรือสิ่งเจอปนอย่างอื่นมากเหมือนทุกวันนี้
น่าจะเป็นที่มีการขุดขายกันไปนานหลายปีมากแล้ว
ทำให้กองขี้ค้างคาวร่อยหรอจนเริ่มติดหน้าดินแล้ว

ราคาปุ๋ยขี้ค้างคาวสมัยนั้นปี๊บละห้าบาท
ได้มาแล้วก็จะเอามาละลายน้ำไว้ก่อน
แล้วค่อยเอาไม้กวนจนคาดว่าละลายดีแล้วเหมือนโคลน
แล้วจึงนำต้นกล้าข้าวจุ่มแช่ทิ้งไว้ประมาณหนึ่งคืน
แล้วจะค่อย ๆ ดึงขึ้นมาเพื่อนำไปปักดำนา
ข้าวที่ใส่ปุ๋ยแบบนี้มักจะได้ผลผลิตดีกว่าเดิม

การขายข้าวเริ่มจะมีการซื้อขายและแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ญิ่ปุ่นยึดครองหาดใหญ่สงขลา
เพราะขาดแคลนไปหมดทุกอย่าง
ตั้งแต่ผ้านุ่งก็ต้องใช้กระสอบใส่ข้าวมาดัดแปลง
เพื่อทำเป็นโสร่งนุ่งแทน
คนใต้แถวสงขลาสมัยก่อนนิยมนุ่งโสร่ง
หรือถ้าหรูหน่อยก็จะเป็นผ้าใบที่หนา ๆ ทำเก้าอี้นอนสมัยก่อน
หรือผ้าเต้นส์นำมาตัดเย็บเป็นโสร่ง

ส่วนเสื้อมีกันอย่างมากก็คนละตัวเดียว
เพราะเสื้อผ้าหายากอย่างหนึี่ง
การตัดเย็บก็ลำบากไม่มีจักรเย็บผ้าเหมือนสมัยปัจจุบัน
ต้องใช้สอยด้ายหรือเย็บด้ายทีละตัว
การมีเสื้อสักตัวหนึ่ง ก็ใช้ได้หลายงานแล้ว
ไม่มีการกำหนดว่าสีไหนห้ามเข้างานไหนในสมัยก่อน
เพราะชาวบ้านโดยปกติมักจะไม่นิยมใส่เสื้อ
จะใส่ก็เวลาขึ้นไปบนบ้านของเพื่อนฝูงญาติมิตร
หรือไปทำบุญงานวัด หรือไปงานศพ
หรือเข้าไปติดต่อกับอำเภอเท่านั้น
เพราะเชื่อกันว่า คนจึงนุ่งเสื้อ ผีไม่นุ่งเสื้อ

เกลือ กะปิ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ขาดแคลนมาก แม้ว่าจะใกล้ทะเล
เพราะสงขลาไม่มีการทำนาเกลือกันเลย
มีทำกันมากที่แถวปัตตานี ที่ยังมีอยู่ที่ ตำบลนาเกลือ
การไปไหนมาไหนก็ลำบากต้องเดินกันมากกว่า
รถยนต์โดยสาร รถไฟ มีแต่ราคาแพง
เพราะเงินทองสมัยก่อนหายาก
รองลงมาก็คือ ไม่ไว้ใจทหารญี่ปุ่น

กลางคืนถ้าจะไปไหนมาไหน
ต้องใช้ไต้ โดยนำขี้ยางชันมาก่อผสมเปลือกต้นเสม็ด
มัดให้เป็นแท่งเหมือนกระบอกข้าวหลาม
แล้วจุดไฟให้ติดสามารถส่องทางแทนไฟฉาย
ส่วนที่คลองหวะ หรือ บ้านบางหัก ไม่ต้องมีการพรางไฟ
เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้แต่อย่างใดในสมัยนั้น

สมัยนั้น ใครมีตะเกียงเจ้าพายุใช้
ถือได้ว่าเป็นคนรวยแล้ว
เพราะต้องจัดเตรียมน้ำมันก๊าด (จัดว่าแพง)
ไส้ตะเกียงเจ้าพายุ(สำรองไว้จำนวนหนึ่ง)
ไว้เผาไฟสักพักใหญ่ให้ติดไฟส่องสว่างได้

ชาวบ้านส่วนมากจะใช้ตะเกียงคางคก
คือใช้กระป๋องนม ทำไส้ออกมาแล้วใส่น้ำมันก๊าดจุดไฟ
ต่อมาที่หาดใหญ่ ขุนนิพัทธ์จีนนคร
สามารถนำยางพารามาหุงต้ม
เพื่อผลิตน้ำมันขายได้เป็นรายแรก
เรียกว่ายางหนึ่งกิโลกรัมผลิตน้ำมันได้เป็นขวด
(ไว้มีโอกาสจะเขียนถึงเรื่องนี้)

ผลของสงครามโลกครั้งที่สอง
ทำให้ความขาดแคลนที่มีอยู่มากมาย
ชาวบ้านจึงต้องเริ่มนำข้าวในยุ้งฉางมาขาย
บางรายต้องขายที่นาขายที่ทางให้นายทุนไป
เพราะทนรับกับภาวะเศรษฐกิจกับการขาดแคลนไม่ไหว
สุดท้ายบ้านเมืองก็เริ่มแปรเปลี่ยน
จากทุ่งนาค่อยกลับกลายเป็นตึกรามบ้านช่องจนถึงปัจจุบัน

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ
หลังจากทุ่งนาแถวหาดใหญ่ล่มสลายไปหมดแล้ว 




เรื่องแปลกแต่จริง 
สงขลาติดทะเล แต่ขาดแคลนเกลือ
เพราะเท่าที่สอบถามมาจากหลาย ๆ คนแล้ว
จำได้ว่าไม่เคยมีพื้นที่ไหนในจังหวัดสงขลาทำนาเกลือกันเลย
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ไม่แน่ใจมากนัก
จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า สุราษฏร์ธานี  
มีคนเก่าคนแก่เล่าว่ามีการทำนาเกลือบ้างเล็กน้อย

ส่วนที่ทำมากที่สุดของภาคใต้
คือ จังหวัดปัตตานี ตำบลนาเกลือ
เพราะเคยไปทำงานสำรวจหลักประกันที่ตำบลนั้น
มีนาเกลืออยู่หลายแปลงมาก
เหมือนแถวภาคกลางที่ทำกันอยู่ข้างทางถนนสายหลัก
เวลาขับรถยนต์ผ่านช่วงเกลือแห้ง
จะเห็นเป็นทุ่งสีขาวยาวกว้างไกล
แต่เวลาไปยืนละแวกนั้น
จะร้อนระอุ เพราะแสงแดดสะท้อนขึ้นมา
แถมด้วยกลิ่นไอเค็มแบบเวลาดมเกลือ
แต่กลิ่นจะโชยมาแรงกว่าปกติมากครับ

ลองอ่านเรื่อง เกลือ ของภาคใต้ ตาม link นี้ครับ

http://www.budutani.com/article/article67.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น