วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ขวัญข้าว
ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ขวัญข้าว
เมื่อรวงข้าวสุกพร้อมจะเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว
จะมีพิธีกรรมอย่างหนึ่งของ
ชาวบ้านแถบคลองหวะกับบ้านบางหัก
คือ การทำพิธีกรรมรับ ขวัญข้าว
โดยมากจะเป็นสตรีมากกว่าบุรุษ
ต้องเป็นคนที่เรียกว่าที่มีนิสัยดี
ไม่ปากร้าย ไม่ก้าวร้าว ไม่ชอบนินทา
ไม่เที่ยวด่าทอชาวบ้าน หมู หมา กาไก่ หรือลูกหลานตนเอง
เป็นคนที่มีอารมณ์เยือกเย็น
เป็นที่รักใคร่ของบุตรหลาน
และครอบครัวอยู่ในศีลอยู่ในธรรม
ชาวบ้านจะเลือกรวงข้าวที่สุกสมบูรณ์ที่สุด
ประมาณว่ารวงข้าวสามถึงห้ารวงข้าว
แล้วจะใช้เชือกขาวมัดล้อมรอบเอาไว้
บางเจ้าจะตัดเอากิ่งต้นชุมเลียง
ปักเป็นสี่มุมไว้ก่อนนำเชือกมาล้อมรอบ
นัยหนึ่งว่า จะทำให้การทำนาครั้งต่อไป
มีข้าวชุกชม และมีจำนวนเลียงข้าวจำนวนมาก
(ปักษ์ใต้มีหน่วยวัดข้าวเป็นเลียง)
บริเวณที่มีเชือกล้อมรอบข้าวรวงชุดนี้เรียกว่า ขวัญข้าว
หลังจากนั้นจะเริ่มการเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้แกะ
เครื่องมือเกี่ยวข้าวของชาวบ้านปักษ์ใต้
ที่จะเก็บเกี่ยวข้าวทีละรวงในบริเวณอื่นก่อน
เลือกแต่ข้าวสุกแล้วส่วนข้าวที่ยังไม่สุก
ค่อยมาตามเก็บในวันหลังต่อไป
เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวจนพอใจหรือหมดนาแล้ว
วันที่จะไปเก็บเกี่ยวข้าวที่ล้อมรอบไว้เป็น ขวัญข้าว
จะต้องมีการแต่งกายเต็มยศของชาวบ้าน
คือแต่งให้สวยงามถ้าเป็นผู้หญิง มีสไบก็ใส่ไปด้วย
ถ้าเป็นผู้ชายจะแต่งแบบพร้อมเสื้อที่จะไปที่อำเภอ
เรียกว่าให้หล่อกันเต็มที่ในวันนั้น
มีทองคำ ทองหยอง เพชรนิลจินดา
มีเท่าไรใส่กันให้เต็มที่ในวันนั้น
เมื่อเดินไปเกี่ยวขวัญข้าวเสร็จแล้ว
จะเดินอุ้มขวัญข้าวมาในอกแบบทะนุถนอมอย่างดี
ใครผ่านไปผ่านมา เป็นอันรู้กันว่าไปรับขวัญข้าวกลับมาบ้าน
มักจะยิ้มหรือทักทายให้กัน
แต่คนอุ้มขวัญข้าว มักจะยิ้มตอบมากกว่าทักทายกลับ
เมื่อนำขวัญข้าวมาถึงบ้านแล้ว
จะนำวางไว้บนหิ้งหรือพาน
ที่ตั้งไว้ที่สูงในยุ้งข้าวของชาวบ้าน
ชาวบ้านบางเจ้าจะรวมกับขวัญข้าวของเก่า
ที่มีการวางซ้อน ๆ กันบนหิ้งหรือพาน
เพราะจำนวนเพียงสามถึงห้ารวงข้าวต่อครั้ง
แต่หลาย ๆ ปีนานเข้านานเข้า ขวัญข้าวจะมีมากเช่นกัน
แต่บางเจ้าจะแยกเก็บไว้อีกที่หนึ่งในที่สูงเช่นกัน
ในคืนเดือน หรือคืนที่ชาวบ้านเรียกว่า ราหูอมจันทร์
จะต้องมีการนำเทียนอย่างน้อยหนึ่งเล่มพร้อมกับน้ำ
ไปจุดไหว้ขวัญข้าว เป็นการให้แสงสว่างกับปลอบขวัญ
หรือขอร้องไม่ให้ขวัญข้าวตกอกตกใจ
กับการที่มีราหูมากินจันทร์จนมืดมิดไปช่วงหนึ่ง
พร้อมกับเสียงจุดประทัด ยิงปืน ตีปี๊บ ตีเกราะ ร้องตะโกนกัน
เป็นที่สนุกสนานในบางกลุ่มกับตกอกตกใจในบางกลุ่มในเรื่องนี้
หมายเหตุ ที่หาดใหญ่ยังมีหลงเหลืออยู่ในบางชุมชน
ช่วงไม่นานนี้ที่มีราหูอมจันทร์เพิ่งผ่านพ้นไป
เป็นการร่วมโอกาสผ่อนคลายความเครียดได้อย่างดีในเวลามีราหูอมจันทร์
ที่จะได้จุดประทัด ยิงปืน ตีปี๊บ ตีเกราะ ร้องตะโกนกัน
โดยที่ชาวบ้าน หรือตำรวจ จะทำอะไรไม่ได้มากในวันนั้น
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อในเรื่องนี้แล้ว
โดยความเชื่อและความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วก็ตาม
สำหรับการรับขวัญข้าวของชุมชนนี้
จะแทนการไหว้พระแม่โพสพ
ที่บางหมู่บ้านจะมีการไหว้อยู่
ส่วนข้าวในยุ้งฉางของชาวบ้านที่เก็บไว้เป็นรวง ๆ
สอบถามแล้วในสมัยนั้นยังไม่มีระบบเข้าก่อนออกก่อน
หรือที่หลักทางการบริหารจัดการเรียกว่า Fifo Lifo
(First In First Out กับ Last In First Out)
ทำให้ข้าวมักจะกองซ้อน ๆ กันไปเรื่อย ๆ
เพราะชาวบ้านสมัยนั้นไม่นิยมขายข้าวแต่อย่างใด
ใครมีข้าวในยุ้งฉางมากจะถือว่ารวยหรือมีฐานะดี
การนำข้าวเปลือกไปทำเป็นข้าวสาร
มักจะหยิบจากด้านบนสุดก่อน
ไม่มีการล้วงลูกดึงจากข้างล่างขึ้นมาก่อนแต่อย่างใด
ทำให้หลาย ๆ ปีเข้า นานเข้า ๆ
ข้าวที่ค้างอยู่ในยุ้งฉางนั้น
ข้าวที่อยู่ล่างสุดมักจะกินไม่ได้แล้ว
เพราะเก่าเก็บหรือแก่เกินกินแล้ว
พอช่วงหลังที่มีการเลิกทำนากันแล้ว
หรือมีการรื้อถอนยุ้งฉาง
หรือทำความสะอาดยุ้งฉาง
ช้าวที่อยู่ช่วงล่าง ๆ สุด
ก็ต้องนำไปทิ้งหรือแปรรูปเป็นอาหารหมู อาหารไก่ ไปในที่สุด
เขียนขึ้นจากความทรงจำร่วมกัน
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนยุ้งข้าวในหาดใหญ่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น