วิถีชาวบ้านการแต่งกายแล้ว
เสื้อจะแทบไม่ใส่กันเลย
เพราะสมัยนั้นเสื้อมีราคาแพง
แต่จะใส่ก็ต่อเมื่อเดินทางเข้าเมือง
หรือมาติดต่อส่วนราชการอำเภอ
หรือเวลาไปงานศพเพื่อนบ้านเท่านั้น
สีเสื้อสมัยก่อนการไปงานศพ
ไม่จำกัดว่าต้องห้ามสีอะไรบ้าง
เพราะส่วนใหญ่ก็โทนสีไม่แตกต่างกันมากนัก
สีสรรค์แสบตาแบบสมัยปัจจุบันก็แทบจะไม่มี
สีเหลืองแบบของพระภิกษุก็ไม่เป็นที่นิยมกัน
หรือไม่มีใครกล้าสวมใส่
เพราะบางคนอาจจะคิดว่าลักขโมยมาจากวัดเป็นต้น
มีก็แต่ตอนนี้ที่เริ่มสมัยนิยมคือสีดำ
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในสมัยนั้นคือ ผ้าขาวม้า หรือผ้าคะม้า
ส่วนมากเอาไว้คาดพุง เช็ดปาก เช็ดเหงื่อ ใช้หลังอาบน้ำ
เรียกว่าสารพัดประโยชน์แทน ทิซชู ในปัจจุบัน
กางเกงสมัยนั้นจะไม่มีใส่กัน
เว้นแต่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่สวมใส่กัน
แต่ชาวบ้านจะนุ่งโสร่งเป็นหลัก
กางเกงในยุคก่อนไม่มีจะใส่
หรือถ้ามีก็แพงเกินความจำเป็น
วิธีการนุ่งโสร่งเป็นแบบนิยม
มาจากชาวไทยมุสลิมหรือเพื่อนบ้านมาเลย์
แต่การนุ่งแบบไทยจะมีวิธีนุ่งที่แตกต่างกันคือ
มัดแบบที่เรียกว่า นุ่งเขี้ยวคอไก่
คือ ทบ ๆ มาแล้วมัดแน่นรอบพุง
ภาพจาก Link
ส่วนการนุ่งแบบไทยมุสลิมก็จะอีกแบบคือ
ทบ ๆ มาแล้วก็ม้วนซ้อนเป็นวงกลมซ้อน ๆ กันหลายรอบ
แล้วทบเข้าไปในรอบพุงให้แน่น ๆ
ทั้งสองแบบก็ไม่หลุดรุ่ยง่ายถ้าชำนาญ
สมัยเด็ก ๆ ยังทันเห็น กำนันวร ทวีรัตน์
นุ่งโสร่งใส่เสื้อกล้ามคอกลมตราห่านคู่
เดินอยู่หน้าบ้านท่านที่แถวคลองเตย
ใกล้กับโรงเรียนศรีนครหาดใหญ่
เรื่องเสื้อมีข้อสำคัญอยู่อย่างคือ
การไปเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อนบ้าน
หลังจากล้างเท้าแล้วก่อนจะขึ้นเรือนชานบ้านเพื่อน
ทุกบ้านจะมีที่ล้างเท้าก่อนจะขึ้นบ้าน
เพราะถนนหนทางสมัยก่อนยังไม่มีการลาดยางหรือเทปูนซีเมนต์
จึงมักจะมีเศษดินเศษโคลนติดตามเท้าก่อนจะขึ้นบ้าน
ก่อนขึ้นบ้านมักจะตะโกนให้เจ้าของบ้าน ขับผ้าให้
(โยนผ้าขาวม้าสักผืนลงมาให้ก่อน)
เพื่อนำมาพาดบ่าก่อนจะขึ้นบนเรือนชานเพื่อนบ้าน
คนโบราณนิยมจะต้องไม่ขึ้นบ้านคนอื่นด้วยตัวเปล่า
แม้ว่ามักจะนิยมไปไหนมาไหนกันในหมู่บ้านโดยไม่สวมเสื้อ
การไม่สวมเสื้อขึ้นเรือนชานเพื่อนบ้าน
จะเข้าข่ายวาทะกรรมว่า มีแต่คนเท่านั้นที่มีผ้าให้
แต่ผี จะไม่มีขับผ้าให้ (หรือมีเสื้อสวมใส่ให้)
รองเท้ามักจะไม่มีให้ใส่
เดินเท้าเปล่ากันเป็นส่วนใหญ่
ถ้าจะมีก็มักจะทำจากวัสดุพื้นเมือง
เช่น กาบหมาก หรือหนังควาย
แต่ที่นิยมเพราะหาง่ายคือกาบหมากที่ไว้กินกับใบพลู
โดยใช้กาบหมากตัดเป็นรูปรองเท้า
แล้วใช้สายรัดรองเท้าแบบรองเท้าแตะหุ้มส้นเท้า
หรือแบบรองเท้าแตะคีบในปัจจุบัน
รองเท้าแตะฟองน้ำที่ขายตอนนี้ก็เลียนแบบมาจากอดีต
แปรงสีฟันไม่มีใช้
มีบ้างก็ผลิตเอาเอง
เอารากไม้มาทุบให้ช้ำ ๆ
นิยมใช้รากต้นข่อย
หรือไม่นิยมถ่านไฟ หรือ ทรายอ่อน ๆ ถูฟัน
การแต่งกายก็ดี
มาเปลี่ยนแปลงตอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม
บอกเลิกให้ชาวบ้านกินหมาก เลิกนุ่งผ้าจูงกระเบน
ชาวบ้านสมัยก่อนไม่มีบัตรประชาชน
มีแต่ใบรับรองของทางรัฐ
ชาวบ้านเรียกว่า ใบ 4 บาท
หมายเหตุ รองเท้าจากกาบหมาก
มีข้อดี คือ หาง่าย ทำเองได้ สะดวก
แต่ข้อเสีย คือ ขึ้นราง่าย ผุพังง่าย
ชาวบ้านบอกว่า ประมาณอย่างเก่งก็สองสามวัน
เรียกว่า ไม่ใช่ประเภทใช้ทน ใช้นาน ใช้จนรำคาญ
ในภาพประกอบ กาบหมากที่สีเขียวคล้ำออกน้ำตาลคือด้านล่าง
ส่วนด้านบนจะออกสีขาวอมน้ำตาล
ในรูปเท้าเปล่าคือ ลุงลัพย์ หนูประดิษฐ์
แกใช้มีดตัดเดี๋ยวเดียวก็ได้รูปรองเท้าแล้ว
ส่วนสายรัดก็ใช้กาบหมากทำเอา
แต่แกแนะนำว่าถ้าถักได้ก็จะแข็งแรงทนกว่าเดิมมาก
ส่วนรองเท้าหนังสีดำเก่า ๆ เหี่ยว ๆ เป็นของผู้เขียนครับ
ต้นหมากในหมู่บ้านที่ยังปลูกกันมาก แต่อายุมากแล้วเช่นกัน
ตันเลยสูงมาก การเก็บเกี่ยวค่อนข้างจะลำบาก
การสวมรองเท้าแตะจะมีสามกรณีคือ
1. การเข้าไปเที่ยวในเมืองหรือติดต่อราชการ (ต้องโชว์กันหน่อย)
2. การเข้าป่าเพื่อถางป่า กันหนามหรือเศษกิ่งไม้ทิ่มตำ
3. การเป็นโรคคุดทะราด(เหยียบกวด)
มีอาการหนังแข็งแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อของเท้า
พร้อมกับมีหนอง/น้ำเหลือง ข้างในเจ็บปวดมาก
มีอาการไม่ตายแต่เจ็บปวด
ยาปฏิชิวนะสมัยก่อนก็ไม่มี
ต้องกินยาไทยต้มกินกันเป็นหม้อ ๆ กว่าจะหาย
เคยทราบว่า หมอญี่ปุ่นที่มาเป็นหมอที่หาดใหญ่
รักษาโรคนี้โดยการใช้จุนสีสะตุ (สีม่วง ๆ)
ที่ป้ายปากเด็กเวลาเป็นซางหรือแผลในปาก
เทรักษาก็หายไปได้หลายคนเช่นกัน
มีอะไรที่ชาวบ้านมักจะพูดกันว่า "มันแปลกดีนะ"
คือเวลาเข้าเมืองก็จะแต่งกายเรียบร้อยรัดกุม
แต่เวลาเข้าไปถางป่า ทำนา ทำสวน
กลับไม่สวมใส่เสื้อผ้าหรือใส่รองเท้า
ทั้งที่จำเป็นกว่าในการป้องกันหนามไหน่หรืองูเงี้ยวเขี้ยวขอ
เรียกว่า แตกต่างกับตอนนี้มาก
ที่เวลาเข้าสวนบางเจ้าจะแต่งกายรัดกุม
มีรองเท้าทอปบูทส์ยางหุ้มข้อเท้าก่อนเข้าป่ายาง เป็นต้น
หมายเหตุ ในสมัยนั้นอาจจะเรียกได้ว่า
ชุดนอนชุดเที่ยวชุดเดียวกัน
ส่วนเสื้อกล้ามตราห่านคู่จะมาภายหลัง
เป็นที่นิยมกันมากเพราะสวมสะดวกและราคาถูก
ภาพแกะของชาวบ้านในหมู่บ้านคลองหวะ
มีสนิมเหล็กขึ้นแล้ว สภาพชำรุดเพราะไม่ใช้งาน
น้ำท่วมร่วมกับเจ้าของบ้านมาก่อน
ภาพประกอบการใช้แกะเกี่ยวข้าว จาก link นี้เลยครับ
การเก็บเกี่ยวจะใช้คมมีดตัด ตรงคอข้าวทีละรวง
จะทำการเลือกเฉพาะรวงข้าวที่สุกแล้วพร้อมเก็บเกี่ยว
ส่วนรวงข้าวที่ยังไม่สุกพอ ค่อยมาเก็บเกี่ยวภายหลังได้
การเก็บก็จะง่ายกว่าใช้เคียวที่ต้องไปฟัดฟางออกอีกรอบ
หมายเหตุ บางพื้นที่ของอำเภอสทิงพระ (จะทิ้งพระ)
จะเรียกข้าวที่ยังไม่สุกพร้อมเก็บเกี่ยวว่า ลูกข้าว
แล้วค่อยมาเก็บเกี่ยวภายหลังด้วยแกะ
หลังจากรอให้สุกเรียบร้อยแล้ว
บางครั้งได้มากกว่าการเก็บเกี่ยวครั้งแรกเสียอีก
แต่ต้องคอยระมัดระวังด้วย
เพราะบางครั้งจะมีคนมักง่ายปล่อยวัวลงไปกินลูกข้าวได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น