วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-กล้ายางพารา
ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-กล้ายางพารา
สมัยก่อนการปลูกยางพาราเป็นเรื่องของการวัดดวง
คือ การหาลูกยางพาราจากใต้ต้นยางพารา
บางคนว่าต้องมีอายุประมาณสิบปีถึงสิบห้าปี
ก็จะได้กล้าต้นยางที่แข็งแรงและมีรากแก้วเดินได้ลึก
ต้นยางโตแล้วจะล้มได้ยากกว่าปกติ
แต่น้ำยางจากลูกยางใต้ต้นยางพารา
มักจะมีปัญหาคือ บางต้นให้น้ำยางมาก
บางต้นก็ให้น้ำยางน้อยเช่นกัน
เพราะมาจากพันธุกรรมหรือ
การผสมระหว่างสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกันเกินไป
ทำให้คุณภาพน้ำยางไม่ค่อยดี
เรียกว่าสมัยก่อนไร่หนึ่งได้หนึ่งกิโลกรัมก็ถือว่าดีมากแล้ว
ต่อมาก็มีการแนะนำให้ชาวสวนยางพารา
เริ่มเพาะกล้ายางพาราลงในแปลงที่จะปลูกจำนวน
หลุมละสามต้นเป็นอย่างต่ำก่อน
พอต้นโตประมาณขนาดนิ้วมือของชาวสวน
ก็จะเริ่มลงมือทำการติดตายางพาราในแปลงยางพารา
โดยจะมีการสอนและสาธิตการติดตาให้กับชาวบ้าน
ชาวบ้านบางคนก็ไปเรียนจนมาทำด้วยตนเองได้
บางคนก็มาประกอบอาชีพรับจ้างติดตายางในภายหลัง
โดยไปซื้อกิ่งตายางพันธุ์ดีจากสวนยางพาราชาวบ้าน
หรือของราชการ ศูนย์วิจัยการยางพาราที่คอหงส์ หาดใหญ่
ราคาสมัยนั้นขายกันเป็นมัด ๆ ละหกบาท
ก็จะได้ตายางพาราจำนวนหลายตาทีเดียว
ที่นิยมกันมากก็ RM600 หรือ GT235
เมื่อพร้อมแล้วก็จะเข้าไปในที่แปลงสวนยางพารา
ทำการกรีดเป็นแผลรูปตัวทีขนาดไม่เกินหนึ่งนิ้ว
แล้วฝังตายางพาราลงไปในต้นยางพารา
ห่างจากยอดไม่ต่ำกว่าหนึ่งฟุตเป็นอย่างน้อย
ก่อนจะทำการปิดแผลที่ติดตา
สมัยก่อนจะใช้ผ้าขาวชุบขี้ผึ้งพันรอบตายาง
ตัดขนาดกว้างประมาณหนึ่งนิ้ว
พันรอบต้นเพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปในจุดที่ติดตา
ทิ้งไว้ประมาณยี่สิบเอ็ดวันเป็นอย่างต่ำ
แล้วค่อย ๆ แกะผ้าที่พันไว้มาดูว่า
ถ้าตาขึ้นสีเขียวก็แสดงว่าติดตาผ่าน
แต่ถ้าเน่าหรือสีดำก็แสดงว่าไม่ผ่าน
ก็อาจจะติดตาใหม่หรือถอนทิ้งไปเลย
เพราะปลูกสำรองไว้แล้วสองต้น
ส่วนต้นที่ติดตาผ่านอีกต้นหรือสองต้น
ก็ขุดไปขายเป็นต้นสำรองสำหรับการปลูกซ่อมแซมในสวนอื่น
หรือสวนของตนเองที่เสียหาย
เพราะล้มตายหรือสาเหตุอื่น ๆ
หรือขายให้บางรายที่ต้องการปลูกเลย
แบบไม่ต้องการเพาะเม็ดยางในสวนให้รอจนต้นโตพอติดตาได้
ต้นที่ถูกขุดมาแบบนี้จะมีปัญหารากแก้ว
มักจะไม่สมบูรณ์หรือขาดง่าย
ส่วนมากจะดึงออกมาช่วงฝนตกหนัก ๆ แล้วตอนดินนุ่มทำให้ดึงได้ง่าย
ส่วนอีกวิธีในการติดตาสมัยก่อน
ก็จะใช้พวกเศษมะพร้าวหรือใยมะพร้าวมาห่อหุ้ม
ตามแบบการตอนกิ่งไม้สมัยก่อน ๆ
แล้วพันรอบตาให้แน่นไม่ให้น้ำเข้า
หรือพวกเทปพันแบบใสในปัจจุบัน
ใช้เวลารอคอยยี่สิบเอ็ดวันเหมือนกัน
การติดตาสมัยก่อนมีโอกาสผิดพลาดบ้าง
เรียกว่าประมาณร้อยต้น เสียประมาณสามสิบต้น
แต่คนเก่ง ๆ ก็จะสูญเสียประมาณสิบถึงยี่สิบต้น
ทั้งนี้ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของกล้ายางพารา
ความชื้นในอากาศและแผลที่เปิดกรีด
การติดเชื้อโรคหรือเชื้อราในระหว่างติดตา
หรือการถูกน้ำฝนซะไหลเข้าไปในจุดที่ติดตา
สมัยนี้มักจะนิยมเพาะกล้ายางพาราในถุงชำ
แล้วรอขนาดนิ้วมือชาวสวนยางพารา
ก่อนทำการติดตาในแปลงเพาะกล้ายางพาราในถุงชำ
เพราะการจัดการง่ายกว่าการไปเดินทำในสวนยางพารา
ทำได้จำนวนมากและรวดเร็ว
ข้อสำคัญคือไม่ร้อนและไม่ต้องเดินลุยสวนยางพารา
การขายก็ง่ายกว่า เพราะคนมาซื้อก็เห็นขนาดยางพาราเติบโตแล้ว
แทนการรอคอยให้ต้นยางพาราเติบโตได้ขนาดก่อนจะติดตาได้
เป็นการย่นระยะเวลาปลุกได้เร็วขึ้นอีกประมาณหนึ่งปีเป็นอย่างต่ำ
สำหรับชาวบ้านจังหวัดตรังจะมีความชำนาญมากในเรื่องนี้
เด็กบางคนต้นขนาดตะเกียบก็ยังติดตาได้ตามที่เล่ากันมา
เพราะทำกันมานานจนชำนาญและมีประสบการณ์ถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา
จังหวัดตรังจึงเป็นแหล่งผลิตกล้ายางพาราพันธุ์ดี
ที่มีรายใหญ่และจำนวนมากสุดของภาคใต้ตอนนี้
สำหรับต้นยางพาราติดตาผ่านแล้ว
จะเริ่มทำการเด็ดยอดบนของต้นยางพาราเก่าออก
เพื่อให้ตายางพาราสายพันธุ์ดีงอกขึ้นมาแทน
หรือแทงจนกลายเป็นยอดแทนต้นตอเดิม
ชาวบ้านจากตรังมักจะบอกว่า
ถ้ายอดดำหรือสีเขียวเข้มจัด
มักจะให้น้ำยางดีกว่ายอดแบบอื่น
ในระหว่างนี้ต้องคอยเด็ดยอดของต้นยางพาราต้นเดิม
ที่ไม่ต้องการออกจนตายางพาราที่ติดใหม่
แทงยอดขึ้นมาแทนที่ต้นตอเดิมก็ถือว่าผ่านแล้ว
จะใช้เวลาประมาณไม่เกินหนึ่งปีเป็นอย่างต่ำ
กว่าจะได้ต้นยางพาราที่ใช้ตาของต้นยางพันธุ์ดีทดแทนของเดิม
การติดตาในแปลงยางพาราหรือในที่เพาะยางพาราในถุง
ไม่แตกต่างกันเพราะต้องมีการเด็ดยอดต้นเก่าทิ้ง
แต่ต้นยางพาราในถุงชำมักจะถูกตัดรากแก้วทิ้ง
หรือรากแก้วมักจะขาดก่อนนำไปปลูก
เพราะรากมักจะแทงทะลุถุงดำลงในพื้นดิน
รวมทั้งเกะกะเวลาขนส่งไปปลูกด้วย
ทำให้มีส่วนหนึ่งทำให้ต้นยางพาราล้มง่าย
เวลาถูกพายุพัดแรง ๆ ในช่วงฤดูมรสุม
การเด็ดยอดยางพาราต้นตอเดิมของภาคใต้
มักจะเด็ดกับมือทิ้งไปเลย
ไม่มีการป้ายปูนแดงกินหมากหรือทายากันเชื้อราแต่อย่างใด
เพราะเชื่อกันว่ายางเป็นพืชที่ทนทานและการจัดการหยาบ ๆ
ได้ง่ายกว่าพืชพันธุ์ชนิดอื่น ๆ
เขียนขึ้นจากความทรงจำร่วมกัน
ก่อนจะเลือนหายไปเหมือนการติดตายางในสวนยางพารา
ส่วน link ข้างล่างนี้เป็นการติดตายางของ องค์การสวนยาง
http://www.reothai.co.th/Para2.htm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น