ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ยางแผ่น
สำหรับสวนยางรายใหญ่
หรือรายย่อยที่ขยันขันแข็ง
มักจะนิยมทำยางแผ่นมากกว่าการขายน้ำยางสด
เพราะจะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 กิโลกรัม
ทั้งนี้มีน้ำปะปนอยู่ในเนื้อยางพาราส่วนหนึ่งด้วย
ทำให้เวลาขายก็จะได้ราคาต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม
มากกว่าราคาต่อน้ำหนักน้ำยางสดที่โรงงานรับซื้อน้ำยางสด
ให้ในอัตรา 17.5 กิโลกรัมต่อเปอร์เซ็นต์น้ำยางแห้งที่ร้อยละ 35
แม้ว่าในช่วงแรก ๆ นั้นจะมีการบอกเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า
น้ำยางราคาดีให้ขายน้ำยางสด
ถ้าน้ำยางสดราคาไม่ดีให้ทำยางแผ่นขาย
แต่สุดท้ายพอขายน้ำยางสดนานเข้า ๆ
เลยพาลเลิกทำยางแผ่นขายไปเลย
เพราะสะดวกรวดเร็วและได้รับเงินเลย
ส่วนเครื่องจักรรีดยาง พอไม่ใช้งานนาน ๆ
ขาดการบำรุงรักษาก็เสื่อมสภาพไปอย่างช้า ๆ
พอสุดท้ายก็กลายเป็นเศษเหล็กประจำบ้าน
จะทิ้งก็เสียดายจะซ่อมใหม่ก็หลายตังค์
ทำไปทำมาเลยกลายเป็นของเก่าประดับบ้าน
การทำยางพาราแผ่นของชาวบ้าน
เมื่อรวบรวมน้ำยางพารามาได้จำนวนหนึ่งแล้ว
ก็จะนำน้ำยางพาราจำนวนสามลิตร
ผสมกับน้ำสะอาดจำนวนสองลิตร
ใส่ลงในตะกง (ถาดอลูมีเนียมสี่เหลี่ยม)
คนให้เข้ากันก่อนใส่น้ำส้มยางผสมน้ำเปล่า
ขนาดประมาณครึ่งแก้วหรือหนึ่งแก้ว
ยี่ห้อยอดนิยมสมัยก่อนคือ ตราเสือ
ของร้านกิมฮง ในตลาดหาดใหญ่
ที่สั่งหัวน้ำส้มเป็นไหมาแบ่งขวดขาย
ราคาขายช่วงนั้นขวดละหกบาท
จริง ๆ แล้วน้ำส้มยางจะใช้น้ำตาลโตนดที่บูดแล้วก็ได้
หรือที่ชาวบ้านมักจะมาทำเป็นหวาก(น้ำเมา)กินก็ได้
เพราะน้ำส้มคือ ตัวทำปฏิกิริยาที่แยกน้ำกับน้ำยางให้ออกจากกัน
หรือเมื่อยางพาราจับกันเป็นก้อนแล้ว
เหมือนก้อนเลือดหมูหรือเลือดไก่ที่เป็นก้อน
ก็ยังสามารถรินน้ำที่เหลือในตะกงออกมาใส่ไห
หรือถังเก็บไว้ใช้อีกในวันหลังได้
เพียงแต่ต้องเติมปริมาณน้ำส้มยางให้มากกว่าเดิมอีกเล็กน้อย
เมื่อยางเริ่มจับตัวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ ตามรูปตะกง
ก็จะใช้มือคลึง แต่จริง ๆ แล้วใช้เท้าเหยียบเร็วกว่า
เพื่อรีดน้ำให้ออกมากที่สุดเท่าที่รีดได้
จากนั้นก็นำเข้ารีดด้วยเครื่องจักรหน้าเรียบ
เครื่องจักรบางเจ้าใช้แรงงานคน
บางเจ้าใช้เครื่องยนต์หรือไฟฟ้าแทนในช่วงหลัง ๆ
นำยางแผ่นที่รีดน้ำออกมากแล้วรีดด้วยเครื่องจักรหน้าเรียบสามครั้ง
จะมากกว่านั้นก็ได้แต่เสียเวลา
เพราะยางมักจะแบนเรียบแล้ว
ต่อมาก็นำมารีดด้วยเครื่องจักรลายดอกอีกครั้งหนึ่ง
ที่ต้องรีดด้วยเครื่องจักรลายดอกที่แผ่นยางพารา
เพราะเวลาแผ่นยางพาราแห้งซ้อนกันแล้ว
จะสามารถดึงออกจากกันง่ายกว่า
ยางพาราที่เป็นแผ่นเรียบที่จะชิดติดกันสนิท
เพราะไม่มีร่องอากาศเป็นรู ๆ ทำให้ดึงออกเป็นแผ่น ๆ ได้ยากมาก
จากนั้นก็นำยางพาราไปผึ่งลมให้โชยเป่าให้แห้ง
โดยจะไม่วางยางซ้อนกัน
จะวางตากบนราวไม้ไผ่ที่ไปตัดตามป่ารอบหมู่บ้าน
แต่ช่วงหลังเริ่มมีการหาซื้อกันเพราะป่าไผ่หายากขึ้น
จริง ๆ แล้วใช้ไม้อะไรก็ได้ แต่ไม้ไผ่ราคาถูกและหาง่ายกว่า
การตากแผ่นยางพารามักจะวางผึ่งในที่ร่ม
บางเจ้าก็วางผึ่งไว้ใต้ถุนบ้าน
หรือจะตากลมตากแดดก็ได้แต่ต้องหลบฝน
ต้องรีบเก็บเวลาฝนตก จะทำให้เสียเวลา
ยางพาราที่วางผึ่งจำนวนมาก ๆ
จะเห็นคล้ายกับผ้าอ้อมเด็กสีขาวจำนวนหลายผืน
คนจากบางกอกบางรายไม่รู้เรื่อง
มองเห็นแต่ไกล ๆ ก็นึกว่า ชาวบ้านแถวนี้มีลูกดกกันจัง
เพราะคิดว่าตากผ้าอ้อมให้ลูกที่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่
ยางพาราที่ทำเป็นแผ่นแล้วมักจะพูดกันว่า
ผลิตหนึ่งวัน อีกแปดวันขาย อาจจะนานกว่านั้นก็ได้
รวมวันที่ได้วางแผ่นยางพาราไว้ในที่ร่มสองวันด้วย
เพราะพอยางพาราแห้งหมาด ๆ ดีแล้วก็วางซ้อนกันได้เลย
การไม่นำยางพาราที่ยังไม่แห้งมาซ้อนทับกัน
ชาวบ้านจะบอกว่า ยางออกเหงื่อ
เพราะยางพาราที่มีความชื้น ยางจะไม่สวย
ยางอาจจะขึ้นเห็ด เป็นสีขาว ๆ คล้ายกับราเพราะความชื้น
เวลาขายพ่อค้าคนกลางก่อนส่งขายโรงงาน
อาจจะถูกตำหนิหรือหักราคานิดหน่อยก็ได้
เพราะเสียเวลาสำหรับโรงงานรมควันยางพาราต้องล้างออกก่อน
แต่ถ้ามีการรีดยางพาราเป็นแผ่นบางแล้ว
น้ำมักจะระเหยออกได้เกือบหมด
ก็มักจะไม่ขึ้นเห็ดแต่อย่างใด (เว้นแต่อากาศชื้นจริง ๆ)
ความจริงแล้วเวลาชาวบ้านทำยางพาราเป็นแผ่นแล้ว
เวลานำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง
จำนวนหนึ่งร้อยกิโลกรัมจะถูกหักค่าน้ำ
ตามความหนาบางของแผ่นยางพารา
ยางพาราแผ่นบางมากก็จะถูกหักสองกิโลกรัม
เหลือการตีราคาขายเพียงเก้าสิบแปดกิโลกรัม
แต่ถ้าแผ่นหนามากก็จะถูกหักสามกิโลกรัม
เหลือการตีราคาขายเพียงเก้าสิบเจ็ดกิโลกรัม
การขายให้พ่อค้าคนกลางรับซื้อยางพารา
มักจะไม่เวียนหาเจ้าที่ให้ราคาสูงสุด
เพราะมักจะเป็นขาประจำกันหรือถูกคอกัน
เจ้าของร้านจะขอหักค่าน้ำสักนิด หรือขอลดน้ำหนักแผ่นยางพารา
แต่เจ้าของยางพาราจะขอเพิ่มราคากันมากน้อยก็ไม่ค่อยว่ากัน
ต่อรองราคากันได้จนพอใจซึ่งกันและกัน
เพราะขาดเหลือก็หยิบยืมเงินกันสักเล็กน้อยก็ได้
หรือมีงานเทศกาลอะไรก็มักจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ยางพาราเมื่อนำเข้าโรงรมควันยางพาราแล้ว.
จะมีการชั่งน้ำหนักยางพาราที่พ่อค้าคนกลางนำมาส่ง
หรือรายใหญ่ที่มียางพาราจำนวนมาก
จะมีการตีราคาหักค่าน้ำออกมาแล้วแต่ความหนาบางของแผ่นยางพารา
คนตีน้ำฝีมือดี ๆ จะค่าตัวแพงมาก
เพราะเป็นผู้ทำกำไรเบื้องต้นให้กับเจ้าของโรงงาน
รวมทั้งการตอดนิดตอดหน่อยของตราชั่งยางพาราเป็นต้น
จากนั้นก็รวมรวมแผ่นยางพารา
คัดขนาดให้มีความหนาบางใกล้เคียงกัน
ทำการล้างทำความสะอาด
แผ่นยางพาราด้วยน้ำธรรมดา
เพราะยางพาราเวลาแห้งเบื้องต้นแล้ว
น้ำจะซึมเข้าไม่ได้ง่าย ๆ แล้ว
การล้างทำความสะอาดของโรงงาน
เพื่อขจัดเห็ดยางพารา
และพวกเศษสิ่งสกปรกที่ติดมากับแผ่นยางพารา
เช่น ฝุ่น ตะกอนผง เศษดิน ที่ปะปนมาบ้าง
(เป็นรายได้เสริมของชาวบ้านบางเจ้าถ้ายอมเสียราคารับซื้อ)
จากนั้นก็แขวนเป็นราว ๆ บนชั้นสี่เหลี่ยม
ก่อนใส่ชั้นวางเพื่อรุนเข้าโรงรมควันยางพารา
ที่มีการสร้างหลายแบบแล้วแต่เทคนิคของแต่ละโรงงาน
โดยมีหลักการพลวัตรทางอากาศ Aero dynamic
ที่ให้ความร้อนวิ่งเข้าศูนย์กลางแล้ว
กระจายไปรอบ ๆ ภายในเตารมควัน
ก่อนที่ความร้อนจะวิ่งหนีออกไปจากตัวเตารมควัน
ในวันสองวันแรกจะโหมไฟแรงกว่าปกติ
เพื่อไล่น้ำและความชื้นในเนื้อยางพาราออกมาให้เร็วที่สุด
หรือที่เรียกกันว่า ไล่เหงื่อแผ่นยางพารา
เพื่อให้น้ำระเหยออกจากแผ่นยางมากที่สุด
พอหลังจากนั้นก็เริ่มลดความร้อนลงช้า ๆ
จนยางแห้งสุดประมาณไม่เกินหนึ่งสัปดาห์
ช่างเตาไฟ หรือคนคุมไฟ ของโรงงานรมควัน
มักจะกินนอนหรือไปไปมามาอยู่บริเวณเตาไฟ
เพราะต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ในการดูเปลวไฟ
และกะประมาณการความร้อนภายในเตา
เรียกว่า มีฝีมือและมีราคาค่าจ้างแพงพอสมควร
เพราะยางจะสุกเร็วหรือสุกช้า หรือแห้งเกรียมบางส่วนไป
ก็ขึ้นกับฝีมือการคุมเตาไฟด้วยเช่นกัน
มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ
ยางพาราเวลาทำเป็นยางแผ่นรมควันแล้ว
น้ำหนักก็จะหายไปอีกประมาณสองกิโลกรัม
จากการรับซื้อครั้งแรกที่หักค่าน้ำยางแล้ว
หรือตกประมาณน้ำหนักยางพาราหายไปประมาณ
สี่ถึงหกกิโลกรัมจากยางพาราน้ำหนักหนึ่งร้อยกิโลกรัม
แสดงว่าความชื้นในแผ่นยางพารามีค่อนข้างมาก
ถ้าคนตีน้ำยางพาราผิดแล้ว
โรงงานก็จะเสียหายมากเช่นกัน
ยางแผ่นรมควันเมื่อออกจากโรงรมควันยางแล้ว
ก็จะนำมาคีบหรือทำความสะอาดส่วนที่สกปรก
ก่อนจะให้อีกชุดหนึ่งแยกแยะออกมาเป็น
ยางแผ่นรมควันชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นสาม
ตามความสวยงามและหนาบางของยางแผ่นที่รมควันออกมา
งานนี้เป็นเรื่องประสบการณ์และความชำนาญ
ไม่มีการใช้หลักวิทยาศาสตร์แต่อย่างใดเพราะเสียเวลาและค่าใช้จ่าย
จากนั้นก็จะนำยางที่แยกเป็นชั้นต่าง ๆ แล้ว
นำมากองรวมกันก่อนอัดแน่นเป็นก้อนสี่เหลื่ยมจัตุรัส
ขนาดมาตรฐานคือ 111.11 กิโลกรัม
โรงงานก็จะทาแป้งผสมน้ำ
หรือน้ำมันก๊าดทาที่ก้อนยางข้างนอก
ไม่น้อยกว่าหนึ่งกิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ
ยางมีความแปลกแต่จริงอยู่อย่างหนึ่งคือ
ไม่ทำปฏิกิริยาอะไรกับแป้ง หรือเรียกว่า แพ้ทางกัน
เวลาทาแป้งแล้วก็จะไม่ติดกันหรือลื่น
เช่น โรยแป้งลงในหนังสติ๊กยางพาราเป็นต้น
สำหรับโรงงานรมควันยางพาราของหาดใหญ่
สมัยก่อนมีหลายโรงงานเช่น
กิมบั๊ก ตรงหน้าปากซอยแสงศรี
บริเวณตรงข้ามโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
ถ้าจำไม่ผิดของ บริษัท เหมืองยางสินไทย จำกัด
ตอนนี้เป็นอาคารพาณิชย์หมดแล้ว
ของ บริษัท เต็กบีห้าง จำกัด
ตอนนี้เป็นคาร์ฟูร์และตรงข้ามเป็นอาคารพาณิชย์
บริเวณด้านหลังโรงแรมหรรษาเจบี
ก็มีโรงงานรมควันขนาดเล็กอยู่เจ้าหนึ่ง
แต่เลิกรมควันยางพาราไปนานแล้ว
เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจกลิ่นควันและมลภาวะ
ส่วนสวนยางพาราของชาวบ้าน
มีกันอย่างเก่งก็คนละ 9 ไร่ 20 ไร่
ใครมี 50 ไร่ก็ถือว่ามากแล้ว
แต่รายใหญ่จริง ๆ ก็มี หลวงประธานราษฏร์นิกร
เจ้าคุณอรรถะกวีสุนทร
คุณหญิงหลง ภริยาท่านเคยบริจาคสวนยางจำนวนหนึ่ง
ให้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ที่ดินตรงข้ามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มีประมาณสองร้อยกว่าไร่ บางส่วนทางโลตัสก็เช่าที่ดินกองมรดกท่านอยู่
ส่วนที่ทุ่งลุงก็มีของ ลิ้มขอ เรียกว่าสวนยางเก้าร้อยไร่
ของหาดใหญ่ก็มีของ เทียนจ่อ เป็นต้น
เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ
ก่อนที่จะลืมเลือนหายไปเหมือนสวนยางรอบ ๆ เมืองหาดใหญ่
หมายเหตุ ขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายที่ได้อ้างอิงไว้ในภาพครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น