วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-สัตว์น้ำ



ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-สัตว์น้ำ

ในสมัยก่อนการหาสัตว์น้ำของชาวบ้าน
ก็จะไปแสวงหาตามทุ่งนาก่อน
ช่วงหลังฝนตกใหม่ ๆ 
เด็ก ๆ มักจะไปสังเกตไข่แมงดาที่กอหญ้า
ถ้าเจอแล้วมักจะงมหาแมงดา
จะเจอแมงดาตัวผู้เฝ้าไข่แมงดาอยู่เป็นส่วนมาก
แล้วนำไปขายตามตลาดนัดหน้าถนนศรีภูวนารถ
ทางไปอุโมงค์ลอดสะพานรางรถไฟ
หรือสุดสายสามแล้วข้ามคลองเข้าหมู่บ้านจันทร์นิเวศน์
ข้ามสะพานข้ามคลองเตยมาตรงแถวโรงแรมฟลอลิดาปัจจุบัน
ราคาขายแมงดาตัวละห้าสิบสตางค์สมัยนั้น

แต่ในตอนนี้การจับแมงดาง่ายกว่าเดิม
โดยการใช้หลอดไฟสีม่วง (Blacklight)
แขวนบนกิ่งไม้ไผ่หรือแป็บน้ำให้สูง ๆ
เพื่อล่อให้แมลงหรือแมงดามาเล่นไฟ
ก่อนหมดแรงบินตกลงมาในพื้นดิน
บางแห่งก็จะมีแหหรืออวนรองรับอยู่

http://web.ku.ac.th/agri/justmine/403.gif




ส่วนในช่วงหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนาน ๆ
ก็มักจะติดตามผู้ใหญ่ที่ไปกันหลาย ๆ คน
เพื่อไปช่วยวิดน้ำตามทุ่งนาหรือหนองน้ำเล็ก ๆ
เพื่อจับปลามักจะได้ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ
การวิดปลาสมัยก่อนมักจะทำกันก่อนวันสงกรานต์
หรือวันที่มีงานนัดเลี้ยงหรือเทศกาลที่เป็นงานใหญ่มากกว่า
เพื่อนำปลามาทำแกงขนมจีนน้ำยา
ไม่ค่อยจะทำกันพร่ำเพรื่อหรือเป็นอาชีพแต่อย่างใด

ส่วนการใช้การล้อมตา (ตา=แห) ข่าย กัด (ข่ายดักปลา)
ก็ยังมีบ้างประปายสำหรับบางคนที่ทำพอกินพอใช้
แต่กิจกรรมทีสนุกสนานอีกอย่างก็คือ
การใช้สุ่มตามทุ่งนาและคลอง
โดยร่วมมือกันหลาย ๆ คน วน ๆ เข้ามาเป็นรูปวงกลม
จากตลิ่งเดินเข้ามาเป็นวงกลม
แล้วใช้สุ่มจับปลากันเป็นที่สนุกสนาน

การจับปลา นอกจากสุ่ม แห มีดักไซ ดักส้อม
ตกเบ็ด ปักเบ็ด หรือชาวบ้านเรียกว่า ทงเบ็ด
อีกชนิดหนึ่ง ราวเบ็ด 
โดยเอาเชือกขึงแล้วผูกเบ็ดไว้เป็นระยะ

ส่วนถ้าไปตามลำคลองอู่ตะเภา
ซึ่งเดินไม่ไกลจากบ้านคลองหวะ
ก็จะเป็นการเดินหาหอยหรือเก็บหอย
ถ้าตามดินโคลนก็มักจะเจอหอยกาบ
คล้ายกับหอยลายในทะเล
ถ้าดินทรายใต้น้ำก็มักจะเจอหอยตาก
เปลือกลื่นตัวคล้ายกับหอยแครงในทะเล

ขอเล่าแถมนิดหนึ่ง
ครั้งหนึ่งไปดื่มน้ำร่วมสาบานกับเพื่อนแถวโล๊ะการประปา
ตอนนี้เป็นที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลในฝันของเทศบาลนครหาดใหญ่
เจอ นม (คนปักษ์ใต้บางถิ่นนิยมเรียก ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้หญิงสูงอายุว่า นม)
เป็นย่าของเพื่อนร่วมน้ำสาบาน
อายุของแกกว่าแปดสิบห้าปีแล้ว 
ยังแข็งแรงและความจำดีมาก
แกยืนยันว่าเด็ก ๆ แกไปเดินเล่น
และเก็บหอยที่หาดทรายใหญ่
ใกล้ ๆ กับที่ว่าการอำเภอ หรือที่เรียกกันว่า ท่าทราย
บางครั้งก็ไปหากุ้งก้ามกรามกับพี่ ๆ หรือญาติผู้ใหญ่

ส่วนหอยประเภทอื่นก็มีเช่น หอยขม หอยโข่ง
แต่หอยโข่ง จะแปลกกว่าหอยอื่นตรงที่
จะขึ้นไปไข่ไว้บนกิ่งไม้ ต้นไม้  
ผู้เล่าเรื่องนี้บอกว่าไม่เคยเห็นตอนมันปีนขึ้นไป
แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ไข่ขึ้นสูง น้ำจะสูง 
หมายถึงปีนั้นน้ำจะท่วมสูง
เป็นสัญชาติญาณประเภทหนึ่งของหอยขม

ส่วนตามลำคลองก็จะมี กบคลอง
ตัวโตขนาดใหญ่เท่ากับ กบเบตง (หรือกบภูเขา)
แต่อึ่งอ่างภาคใต้ไม่นิยมกินกันเลย
แต่ที่อีสาณบางแห่งจะเห็นชาวบ้านจับอึ่งอ่างเสียบไม้ย่างขาย
หรือตากแห้งเป็นตัว ๆ ขายกัน

มีอยู่รายหนึ่งเล่าให้ลุงลัพย์ ฟังว่า
มีรายได้จากการขายลูกอึ่งอ่างอายุประมาณเจ็ดวัน
เพื่อนำไปปรุงอาหารขายกันในแถวจังหวัดแห่งหนึ่งในอิสาณ
มีรายได้จากธุรกิจนี้ค่อนข้างดีมาก

มีบางรายการกินอิ่งอ่างจะแหวกแนวและแปลกกว่ารายอื่น
การกินอึ่งอ่างก็เอาผักบุ้งสับเป็นท่อน ๆ ลงในหม้อน้ำ
แล้วใส่ลูกอ้อด(ลูกกบ ลูกอึ่งอ่าง) ลงไปในหม้อน้ำ
ค่อย ๆ ต้มน้ำให้เดือดช้า ๆ เพื่อให้ลูกอ้อดวิ่งเข้าไป
เบียดเสียดยัดเยียดกันในท่อน้ำของผักบุ้งที่เย็นกว่าน้ำช่วงแรก
ก่อนจะตายคาท่อนผักบุ้งแล้วนำมากินกัน

ในเรื่องของวัฒนธรรมในการกินอาหารของแต่ละท้องถิ่น
ไม่ควรสรุปว่าถูกหรือผิดแต่อย่างใด 
เช่นเดียวกันกับการกินอาหารหรือของกินบางแห่ง เช่น
หอยนางรม กุ้งเต้น หอยแครงเผา หอยแครงลวก ปูดำเผา หอยชักตีน ปลาดิบ
ก็เป็นการฆ่าสัตว์แบบยังมีลมหายใจเช่นกัน

ส่วนปลาในคลองอู่ตะเภา
ปลาที่มีขนาดใหญ่สุดคือ ปลาทก
มีหนวด ค่อนข้างคล้ำสีออกดำ คล้ายปลาสวาย
ขนาดใหญ่มากลำตัวยาวประมาณเมตรเศษ
เคยเห็นมีคนหามขึ้นมาแล่เนื้อขายกัน
ครูคนหนึ่งที่โรงเรียนแสงทองวิทยาและเพื่อนอีกคนที่ทุ่งลุง
ก็เล่าให้ฟังว่าเคยเห็นปลาขนาดใหญ่ประเภทนี้
เห็นว่าลอยน้ำมาเพราะเมายาเบื่อ
บางคนเชื่อว่า เป็นสายพันธุ์ปลาบึกประเภทหนึ่ง

ส่วนปลาอื่น ๆ ก็มี ปลาพรม คล้ายปลาไน
ขนาดหนัก 2-3 กิโลกรัม

ปลาปักเป้า จะมีมากในลำคลอง
เป็นปลาประเภทชอบกลิ่นคาว
เวลาว่ายน้ำในคลองอู่ตะเภาต้องระวัง
เพราะตอด(กัด) เจ็บมาก
มักจะกัดตามต้นขา หรือแถว ๆ เนื้ออ่อน

ปลาตือ คล้ายปลากราย หางเป็นจุด ๆ
ขนาดเท่าไม้กระดานตัวประมาณสองฟุตเศษ

ปลาขี้ขม ตัวคล้าย ๆ ปลาไน เกล็ดออกสีเขียวนิด ๆ

ปลาโอน คล้าย ๆ ปลาทก ตัวสีขาวเล็กขนาดสามนิ้วมือ
มักจะใช้แกงส้ม คล้าย ๆ กับปลาเนื้ออ่อนของทะเลสาบเขมร

ปลาหมอ มักจะอยู่ตามหนองน้ำหรือทุ่งนา
หรือรอยต่อระหว่างคลองอู่ตะเภาที่น้ำนิ่ง
ชอบบ้วนน้ำเป็นระยะ ๆ ทำให้รู้แหล่งที่ซ่อน
เลยเป็นที่มาของคำว่า  ปลาหมอตายเพราะปาก 
ชาวบ้านมักจะใช้เม่า (แมลงเม่า) ตกมักจะได้ปลานี้
แต่บางคนบอกว่าใช้ดอกมะเขือก็ได้เหมือนกัน

ปลาลำปำ คล้ายปลาตะเพียน กระโดงสีแดง แก้มสีแดง

ปลาแก้มช้ำ คล้ายปลาขี้ขม ชอบกินข้าวเปลือก
การล้อมจับหรือหาก็มักจะใช้ฟางข้าวพร้อมข้าวเปลือก
วางเหยื่อล่อก็จะมากินจนเหลือแต่ฟางข้าว
ตามตำนานเล่าว่า แต่ก่อนปลายังพูดจาประสาคนได้
ปลาแก้มช้ำแอบไปกินข้าวของคน
ถามก็ไม่ยอมรับว่ากินหรือไม่ได้กิน
พระอินทร์เลยโกรธ ตบไปที่แก้มของปลา
แก้มปลาชนิดนี้เลยเป็นสีแดงช้ำจนถึงทุกวันนี้

ปลากด ก็จะมีมากในสมัยก่อน
แต่ตอนนี้เป็นปลาเพาะเลี้ยงขายมากกว่า

ปลาเซี่ยว ตัวใส เห็นกระดูกข้างในคล้ายปลาก้างพระร่วงของภาคกลาง
ชอบกินเม่า หรือแมลงเม่าเหมือนกัน
ถ้าตกปลาชนิดนี้ต้องใช้เหยื่อประเภทนี้

และมีปลาแขยง ปลาแรต ชาวบ้านเรียกว่า ปลาเม่น

สมัยก่อนปลายังมีมากในคลองอู่ตะเภา
ต่อมามีคนมักง่ายในการทำมาหากิน
เลยไปซื้อ โล่ติ๊น/ไหลแดง เป็นต้นไม้ที่คั้นน้ำ
ที่เดิมใช้เป็นยาฆ่าแมลงประเภทหนึ่ง
สมัยก่อนสามารถหาซื้อได้จากร้านเจียไต๋จั่น (ซีพีในปัจจุบัน)
เดิมมีขายอยู่ตรงสายสามของหาดใหญ่ 
ก่อนจะย้ายไปเป็นสำนักงานใหญ่ที่ถนนสามสิบเมตร
เมื่อซื้อมาแล้วก็จะทำการสับ ๆ เป็นท่อน ๆ ตำแช่น้ำ
แล้วนำใส่เรือล่องเรือไปตามต้นน้ำ
หรือแหล่งที่ไม่ค่อยมีคนผ่านไปมา
ก่อนจะโยนลงในลำคลองอู่ตะเภา
น้ำก็จะกลายเป็นสีขาวเหมือนน้ำนม

รายละเอียดและภาพเพิ่มเติมจาก link


http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=24


ปลาขนาดเล็ก ก็จะค่อย ๆ เมายา
แล้วลอยน้ำขึ้นมาก่อนปลาตัวใหญ่
ปลาใหญ่จะลอยขึ้นมาช้ามาก
บางครั้งจะเห็นปลาลอยน้ำเป็นทางไกลระยาวมาก
ชาวบ้านก็จะแห่มาจับปลาที่ลอยน้ำขึ้นมา
แม้ว่าทางราชการจะห้ามหรือจะจับกุมก็ตาม
แต่ก็จะจับได้ยากเพราะมักจะแอบทำกัน

ส่วนยาเบื่อปลาอีกประเภทหนึ่งคือ ยาฆ่าปลวก
สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาจีนสมัยก่อน
หรือร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างในอดีต (ไม่แน่ใจ)
เป็นก้อนสีน้ำตาลขนาดสบู่ตรานกแก้ว
ที่ตอนนี้โตเป็นสาวแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษ
ความหมายว่านกแก้วเหมือนกัน
สำหรับขายตลาดอีกระดับหนึ่ง

คนเบื่อปลาก็จะเอายาชนิดนี้
เดินแกว่ง ๆ ไปตามต้นน้ำขนาดเล็ก ๆ
ที่นิยมกันมากก็คือ แถวคลองเล็ก ๆ 
ที่ตอนนี้เป็นคูน้ำข้างมหาปัญญาวิทยาลัย
หรือที่เรียกกันว่า ป่าช้าวัดถาวรวราราม ในอดีต

คลองดังกล่าวตอนนี้เป็น คูระบายน้ำ
ข้างถนนอรรถะกวีสุนทร 
(ข้าง Lotus หาดใหญ่ติดวัดโคกนาว)
ที่เป็นถนนสายที่มาของเรื่องสยองขวัญชาว มอ.
เกี่ยวกับเรื่อง ผีดุยายสปีด ตาม link

http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/2009/06/W7979087/W7979087.html

ปลาที่เบื่อในลำคลอง  
เพื่อจะจับมากินนั้น
ที่จะลอยขึ้นมาก่อน
มักจะเป็นปลาเนื้ออ่อนประเภทอื่น

แต่ที่คนเบื่อปลาอยากได้หลัก ๆ คือ 
แม่ครอก หรือแม่ปลาช่อน
ส่วนลูกปลาช่อนตัวสีแดงจัด
ก็จะเมายาเบื่อลอยขึ้นมาก่อนเป็นชุดแรกอยู่แล้ว 
และมักจะจมน้ำตายไปในที่สุด
ก่อนที่แม่ครอกหรือปลาช่อนตัวผู้
จะเมายาเบื่อโผล่ขึ้นมาภายหลัง

เรื่องการเบื่อปลาลำคลองสายนี้
หรือหลายแห่งในพื้นที่ของกำนันวร ทวีรัตน์ 
กำนันวร ทวีรัตน์ เคยประกาศไว้เด็ดขาดว่า
ถ้าจับคนเบื่อปลาได้
จะจัดการเด็ดขาดสำหรับคนเบื่อปลาสายคลองนี้
เพราะวัวที่กินน้ำจากการเบื่อปลา
มักจะเมาหรือไม่สบายมาก
ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจจะบาดเจ็บล้มตายได้

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนปลาหลายสายพันธุ์ในคลองอู่ตะเภา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น