ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ยางพารา(น้ำยางสด)
สำหรับชาวบ้านคลองหวะและชาวใต้ส่วนมากแล้ว
ยางพารา คือ พืชเงินสดของชาวใต้
เพราะกรีดยางพาราขายเมื่อไร ก็ได้เงินสด
สามารถนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน
และเพื่อการศึกษาลูกหลานและอื่น ๆ
เพราะเป็นพืชที่มีรายได้ตลอดปี
จะหยุดกรีดอีกทีตอนหน้าแล้ง หรือฝนตกหนัก
ถ้าฝืนกรีดยางพารา จะได้น้ำมากกว่ายางพารา
เผลอ ๆ หน้ายางเน่าเสียหายจะกรีดไม่ได้
ไม่คุ้มกับรายรับวันนี้ แต่ขาดทุนในรายรับวันหน้า
ยางพาราจะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกับ
พืชสวนชนิดอื่น เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ ลำไย ลิ้นจี่
ที่เป็นพืชตามฤดูกาลที่ต้องรอฤดูกาลเก็บเกี่ยว
และต้องรอลุ้นราคาเวลาขายให้กับพ่อค้า
อาจกำไรหรือขาดทุนก็ได้
ยางพาราชาวบ้านบางคนบอกว่า
การแบ่งปันส่วนระหว่างเจ้าของกับลูกจ้างกรีดยางพารา
เป็นระบบคอมมิวนิสต์
คือ อัตราร้อยละ ห้าสิบ หรือ หกสิบต่อสี่สิบ
บางสวนเคี่ยว ๆ ก็ เจ็ดสิบสามสิบ (แต่หายาก)
เจ้าของสวนต้องรับผิดชอบเรื่อง
ปุ๋ย การใส่ปุ๋ย น้ำส้มยางพารา การทำคูกันไฟหน้าแล้ง(บางเจ้า)
ที่กินอยู่หลับนอนของลูกจ้างคนกรีดยางพารา
เครื่องมือเครื่องจักร ไฟฟ้า น้ำมัน ในกรณีทำยางแผ่น
ภาระจะหนักมากถ้าเป็นเจ้าของสวนแปลงใหญ่
เรียกว่า ถ้ายางพารากิโลกรัมละร้อยบาท
สมมุติแบ่งที่ ห้าสิบห้าสิบ เจ้าของก็จะได้ห้าสิบบาท
ลูกจ้างมาตัวเปล่าหรือถือมีดกรีดยางมาด้ามเดียว
ก็จะได้ส่วนแบ่งไปห้าสิบบาทเช่นกัน
ถ้ายางลงเหลือห้าสิบบาทต่อกิโลกรัม
ก็แบ่งคนละยี่สิบห้าบาท
เรียกว่า มีสุขร่วมเสพย์ มีทุกข์ร่วมกัน
อะไรทำนองนี้เหมือนคำขวัญโฆษณาชวนเชื่อสมัยก่อน
ส่วนปาล์มน้ำมันก็ต้องรอรอบการตัดทุกสิบห้าวันถึงยี่สิบวัน
เจ้าของส่วนปาล์มน้ำมันรับผิดชอบ
เฉพาะปุ๋ย ค่าใส่ปุ๋ย การป้องกันหนู ค่าตัดแต่งทางใบปาล์ม
แต่ส่วนแบ่งตกลงกันแน่นอนเลยคือ
ทั้งตัด หรือ แทงทะลายปาล์ม แล้วขนไปขายที่โรงงานโดยคนตัด
แบ่งกันที่กิโลกรัมละ ห้าสิบสตางค์ ถึง หนึ่งบาท แล้วแต่ตกลงกัน
ปาล์มจะขึ้นไปที่ราคาห้าบาท หรือสิบบาทต่อกิโลกรัม
คนตัดจะได้ราคาคงที่ตามที่ตกลงกัน
เรียกกันว่าเป็นระบบ นายทุน
เรียกว่า ส่วนปาล์มไหน ได้น้ำหนักปาล์มมาก
คนตัดจะได้ตามกิโลกรัมที่ตัดหรือแทง
เจ้าของก็ได้ตามกิโลกรัมที่ขาย
แต่มีธรรมเนียมว่า ลูกร่วงใต้ต้นปาล์มน้ำมัน
จะเป็นรายได้ของคนตัดปาล์มคนเดียว
เพราะค่อนข้างเสียเวลาก้ม ๆ เงย ๆ ในการเก็บลูกร่วง
แต่ราคาขายจะดีกว่าการขายทั้งทะลายปาล์ม
โรงงานมักจะบวกให้อีกกิโลกรัมละหนึ่งบาทอย่างต่ำ
ทำให้คนตัดขี้ฉ้อบางคน
จะรอให้มีลูกร่วงใต้ต้นปาล์มมาก ๆ
แล้วค่อยเข้าไปตัดทะลายปาล์ม
เวลาหล่นกระแทกพื้นทั้งทะลาย
มักจะมีลูกร่วงกระเด็นออกมาอีกส่วนหนึ่ง
ก็จะได้ลูกร่วงเป็นรายได้เสริมของตนเอง
ยางพาราสมัยก่อนที่ปลูกที่คลองหวะ
จะเป็นพันธุ์พื้นเมืองตามที่เรียกกัน
จริง ๆ คือ การนำเมล็ดยางพาราที่หล่นใต้ต้นมาปลูก
ไม่มีการต่อตา หรือ เสียบยอด เหมือนปัจจุบัน
ทำให้ผลผลิตไม่แน่นอนเพราะสายพันธุ์อาจจะชิดเกินไป
ทำให้ต้นยางสมัยก่อน หนึ่งร้อยต้นจะได้น้ำยาง หนึ่งกิโลกรัม
ลำต้นยางพาราที่กรีดได้ต้องมีรอบเอวขนาดต้นมะพร้าว
ในปัจจุบันสวนยางพาราบางแห่งจะปลูก เจ็ดสิบต้นต่อไปไร่
ก็จะได้ยางพาราในอัตรา สามถึงสี่กิโลกรัมต่อไร่
หรือชาวบ้านมักจะบอกว่า
ยี่สิบห้าต้นได้หนึ่งกิโลกรัม (ถ้ายางสมบูรณ์)
เคยรับฟังจากป๊ะหรน เกษตรชาวบ้านที่เขาพระ รัตภูมิ
หรือมักจะเรียกแกว่า เกษตรสี่ปัจจัย( ดินน้ำลมไฟ)
แกจะปลูกพืชสี่ชนิดในหลุมเดียวกัน เช่น
กล้วย มะลอกอ (พืชน้ำ) ทุเรียน (พืชไฟ) ลองกอง (พืชลม)
มังคุด (พืชน้ำ) สะตอ (พืชลม)
ผลผลิตก็ได้พอประมาณ
แต่ลำต้นเบียดกันชิดเหมือนต้นเดียวกัน
แกบอกว่า ยางพารา มะพร้าว ปาล์ม เป็นพวกหัวร้อน ตีนเย็น
คือ ต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์แสงมาก
ขณะเดียวกันด้านล่างก็ต้องมีน้ำท่าสมบูรณ์ (หรือมีความชื้นสูง)
ดังนั้นการปลูกยางพาราบางแห่งในอิสาณ
แม้ว่าจะได้ระยะเวลากรีดยางพารามากกว่า
แต่อาจจะมีปัญหาคือ
น้ำยางข้น เพราะขาดน้ำ จะไหลช้ามาก หรือมีน้อย
ซึ่งในกรณีนำไปขายน้ำยางสด
จะได้ราคาน้อยกว่าภาคใต้
เพราะจำนวนน้ำหนักน้อยกว่าส่วนหนึ่ง
แม้ว่าจะวัดเปอร์เซ็นต์มากกว่าน้ำยางทั่วไป
หรือเวลาทำเป็นยางแผ่นจะได้แผ่นน้อยกว่า
เพราะต้องอย่าลืมว่า
สินค้าเกษตรจะซื้อขายกันเป็นกิโลกรัมหรือลิตร
ถ้าเป็นน้ำยางสดจะมีวิธีการคำนวณคร่าว ๆ คือ
เมื่อนำน้ำยางสดไปขายให้พ่อค้าคนกลาง
จะมีการตั้งวัดค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำยางพาราที่ 35%
สมมุติว่านำน้ำยางพาราจำนวน 50 ลิตร
จะนำตัวอย่างน้ำยางพารามาหนึ่งส่วน
แล้วนำมาผสมกับน้ำสองส่วน
ใส่ลงในกระบอกแก้วหรือกระบอกน้ำ
คนให้เข้าด้วยกัน แล้วใช้เครื่องวัดเปอร์เซนต์น้ำยาง
จะมีชื่อเรียกกันว่า แมโทรแลค
ถ้าวัดได้เปอร์เซนต์น้ำยางที่ 35%
จะเอาค่า 35 คูณน้ำหนักยางพารา 50 ลิตร
จะได้เป็นค่าน้ำหนักยางพาราเทียบกับยางแผ่นแห้ง
ถ้าทำเป็นแผ่นแห่งแล้วที่ 17.5 กิโลกรัมต่อแผ่น
มีชาวบ้านบางรายจะฉ้อคนขาย
โดยการต้มน้ำร้อนเทใส่หรือใช้สารเคมีบางอย่าง
เพื่อยกระดับเปอร์เซ็นต์น้ำยางให้เพิ่มขึ้นสูง
แล้วใส่น้ำลงเพิ่มอีกสิบลิตร
ถังมาตรฐานทั่วไปที่นิยมซื้อขายกันคือ ห้าสิบลิตร
สมมุติว่าเปอร์เซ็นน้ำยางของตนเองอยู่ที่ 40%
เมื่อใส่น้ำลงไปสิบลิตรแล้ว
จะกลายเป็นขายน้ำยางที่หกสิบลิตร
แม้ว่าจะทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำยางลดลงที่ระดับ 30%
เมื่อพ่อค้าใช้ แมโทรแลค วัดแล้วได้เปอร์เซ็นน้ำยางแห้งที่ 30%
ก็จะเป็นค่าที่ 30*60=18 กิโลกรัม
หรือได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกิโลกรัม
แต่พ่อค้าจะถือโอกาสหักเงินด้วยเช่นกัน เพราะทันกัน
เช่นจากเดิมให้ที่ 150 บาทต่อกิโลกรัม
จะให้เพียง 140 บาทแทนเป็นต้น
น้ำยางสดที่พ่อค้าคนกลางซื้อแล้ว
จะรวบรวมใส่แท้งค์ขนาดใหญ่
มักจะบรรทุกด้วยรถกะบะ
เพราะวิ่งสะดวกในตามสวนยางพารา
ก่อนจะไปลงในแทงค์ใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรม
ที่ทำการผลิตแปรรูปน้ำยางสดโดยเฉพาะ
ที่หน้าโรงงานจะมีพนักงานรับซื้อด้วยการวัดอีกเช่นกัน
บางแห่งก็จะเข้าเครื่องมือที่มาตรฐานกว่าในการวัดค่า
แต่จะให้ราคาดีกว่าราคาที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อมา
เมื่อรวบรวมได้จำนวนหนึ่งแล้ว
ก็จะนำน้ำยางสดเข้าเครื่องเหวี่ยง
โดยผสมสารเคมีบางตัวตามสูตรที่ผู้รับซื้อปลายทางกำหนด
เครื่องเหวี่ยงนี้เดิมที่เมืองนอกใช้สำหรับ
การเหวี่ยงให้น้ำผึ้งเหลวข้น
ส่วนที่เป็นน้ำจะถูกเหวี่ยงกระเด็นออกไป
แต่เมืองไทยน้ำมาเหวี่ยงเพื่อได้น้ายางข้น
ส่วนเศษที่เป็นน้ำ สมัยก่อนเททิ้งลงบ่อตกตะกอน
แต่ปัจจุบันนำมาแปรรูปเป็นยางอีกประเภทหนึ่ง
เรียกว่าสามารถนำมาผลิตขายได้หมดแทบไม่เหลือเศษ
ในภาคต่อไปจะเขียนเกี่ยวกับ
การทำยางแผ่น และ การทำน้ำมันจากยางพารา
ภาพน้ำยางจากต้นยางพาราจาก
ภาพเครื่องเหวี่ยงแยกน้ำยาง
เป็นเครื่องแยกน้ำออกจากน้ำยางพารา ภาพจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น