วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ปลากริม



ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ปลากริม

ในช่วงเวลาว่างจากทำนาเดือนหก
(ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม)
ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยจะเริ่มทำนากัน
ประมาณหลังเดือนกันยายน
เพราะฝนจะเริ่มตกมากหลังจากช่วงเดือนนี้
ส่วนพื้นที่ในหาดใหญ่ 
น้ำจะท่วมก็ประมาณปลายตุลา-มกราของแต่ละปี

เด็ก ๆ และชาวบ้านที่นิยมชมชอบการกัดปลากริม 
ปลากริม คือ ชื่อเรียก ปลากัด พื้นเมืองสมัยก่อน
จะเริ่มต้นเดินกันไปตามปลัก
ที่ชุ่มน้ำมักจะมีพืชน้ำ
ประเภท กก อ้อ เถาวัลย์น้ำ หรือ สาหร่าย
ที่มักจะขึ้นแทรกอยู่ประปราย
หรือเป็นทุ่งนาที่ว่างเว้นการทำนา
ที่ปลักมักจะเป็นที่ที่ วัวและควายชอบมาดื่มน้ำ
กับเป็นสถานที่พักผ่อนนอนเล่นของควาย
หรือที่เรียกกันว่า นอนจมปลัก

วัดปลักกริม มีที่มาคือ 
แหล่งที่มีปลากริมหรือปลากัดอยู่มากตามปลักแถวนี้
ที่หาดใหญ่มีวัดปลักกริมนอก วัดปลักกริมใน (แยกเป็นสองวัด)
เดิมอยู่ในหมู่ 8 ของตำบลคอหงษ์
ซึ่งเป็นวัดใกล้ ๆ กับหมู่บ้านคลองหวะ ที่เดิมเป็นหมู่ 7
ก่อนโอนย้ายเป็นเขตเทศบาลตำบลหาดใหญ่
แล้วอยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฝนตกในระหว่างเดือนนี้
ประมาณช่วงก่อนสองโมงเช้า (แปดนาฬิกา)
เด็ก ๆ และชาวบ้านจะมาตีเครง (เครง คือ รังปลากัด)
ซึ่งบางครั้งปลากัดอาจจะก่อหวอดอยู่
คือ พ่นเป็นฟองอากาศจำนวนมากลอยอยู่
หรือ เป็นที่ผสมพันธุ์ของปลาตัวผู้ปลาตัวเมีย
การจับจะใช้วิธีง่าย ๆ คือ เอามือช้อนเอา
ช้อนกันด้วยความชำนาญ
ต่อมาเริ่มพัฒนาใช้เครื่องมือ
ประเภทสวิง ตาข่าย ช้อนปลาเอา

ปลากริมที่นิยมมากในสมัยนั้นที่ขึ้นชื่อคือ
ลานไทร ที่แถวนาหม่อม ควนลัง บ้านพรุ ปลักกริม
เป็นปลาลูกทุ่งที่ทนและกัดเก่ง
สมัยนั้นยังไม่มีปลาลูกหม้อ
หรือปลาเมืองจีนหรือปลาสายพันธุอื่น ๆ
ที่นำมาเลี้ยงกันมากเหมือนปัจจุบัน

เมื่อจับปลากริมได้มาแล้วมักจะเลี้ยงดูสักพัก
หรือนำมาเปรียบคู่กัน เพื่อกัดแข่งขันกัน
พอกัดเสร็จตัวไหนแพ้มักจะปล่อยลงน้ำไป
ส่วนตัวชนะจะนำมาเลี้ยงดูสักพัก
พอแข็งแรงจะนำไปเปรียบคู่
เพื่อกัดแข่งขันกับตัวอื่นต่อไป
พอเริ่มเทศกาลทำนาแล้ว
จะปล่อยปลาลงในปลักตามเดิม
ไม่มีการเลี้ยงหรือขยายพันธุ์ขายแบบปัจจุบัน

มีบางรายที่แพ้พนันแล้ว  
เกิดอาการจิตหรือเกิดความโหด
หรือเกิดความสนุกแบบซาดิสต์  
เวลาปลากัดของตนที่แพ้พนันแล้ว
จะนำปลาใส่ในขวดน้ำขนาดขวดโซดาหรือขวดเบียร์
แล้วใส่น้ำให้ได้ระดับหนึ่งพอมีอากาศช่วงคอขวด
หรือบางครั้งก็จะใส่น้ำเต็มขวด
เอานิ้วชี้หรือนิ้วก้อยแยงลงไปในขวดน้ำ
ดึงออกมาเร็ว ๆ แรง ๆ ดัง พล๊อก
ปลากัดมักจะถูกอัดด้วยอากาศและแรงดันน้ำ
บางตัวจะตายแต่เพียงยกแรก
บางตัวพอโดนสักครั้งสองครั้งกว่าจะตาย
ก่อนจะนำไปเททิ้งที่คูคลอง
หรือโคนต้นไม้แถวบ้านต่อไป

แม้ว่าการพนันในสมัยนั้น
จะเล่นได้เสียกันแบบสนุกสนานมากกว่า
ครั้งละหนึ่งบาท ถึงสองบาท
ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ได้เสียกันหลายเงิน
แต่ต้องยอมรับกันก่อนว่า
ค่าใช้จ่ายในสมัยนั้น เงินแพง ของถูก
สมัยก่อนเด็ก ๆ แถวบ้านคลองหวะ

เวลาจะไปเที่ยวในเมือง(หาดใหญ่)
หรือมีงานวัดที่วัดโคกสมานคุณหาดใหญ่
มักจะช่วยกันเดินเก็บ บัวบก 
ที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งนา หรือป่าไผ่
ใส่กระจาดเดินทูนกันไปสองสามคน
เพื่อไปวางขายในตลาดแถวศรีภูวนารถ(สุดสายสาม)
คนจีนในตลาดหาดใหญ่ ชอบซื้อไปต้มน้ำกิน
หรือนำไปกินสด ๆ แบบผัก เป็นยาแก้ร้อนใน แก้ช้ำใน
เด็ก ๆ ขายได้ถาดละบาทถึงสองบาทก็ถือว่ามากแล้ว

หรือบางครั้งจะช่วยกันไปหาใบกล้วยป่า
ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นดงกล้วยเลย
หรือใบกล้วยตามบ้านญาติพี่น้อง
นำมาเจียนเป็นใบ ๆ ไปขายแบบใบตอง
ราคาขายก็พอ ๆ กับ บัวบก
แม่ค้าร้านตลาดมักจะนิยมซื้อ 
ถือว่า ช่วยเหลือเด็กส่วนหนึ่ง
กับราคาขายของเด็กไม่ถือว่า แพงเท่าไรนัก

ส่วนรายจ่ายเวลาเข้าเมืองที่จ่ายมากที่สุดคือ
ไอติมน้ำแข็งบอก 
ไอครีมแท่งใส่น้ำสีต่าง ๆ มีไม้เสียบกลาง
เวลาผลิตจะเทน้ำหวานผสมสีต่าง ๆ
ลงในกระบอกสังกะสีหลาย ๆ อัน
แล้วเขย่า ๆ กับ น้ำผสมน้ำแข็งผสมเกลือเม็ดใหญ่ ๆ 
ให้เย็นจัดจนจับเป็นแท่งไอศครีม
แล้วค่อยเสียบไม้ลงไประหว่างกลางแท่งไอศครีม
ราคาขายเพียงแท่งละสลึงถึงสองสลึง (ภาษาบางกอก)
(ราคาขายยี่สิบห้าสตางค์ถึงห้าสิบสตางค์)

ถ้าหรูขึ้นมาหน่อยก็คือ ไอติมน้ำแข็งขูด
ที่ใส่พวกเครื่องเคียง เช่น ไข่กบ (แมงลัก) 
ลอดช่อง วุ้นดำ ลูกจาก (ลูกชิด) 
มัน ข้าวเหนียว ขนมปัง ฯลฯ
แล้วขูดน้ำแข็งใส โปะทับเครื่องเคียง 
ลาดด้วย น้ำเชื่อม หรือ น้ำกะทิ 
ตามด้วยบางทีจะราดหน้าด้วยนมสด
หรือราดหน้าด้วยน้ำหวานผสมสี
ราคาขายก็สองสลึง(ห้าสิบสตางค์)เหมือนกัน

เด็ก ๆ สมัยนั้นรวมทั้งผู้เขียนสมัยเป็นเด็กนักเรียน
เวลาได้เงินเหรียญหรือธนบัตร
จะเอาหนังยางสติ๊กมัดเงินให้แน่นกับกระเป๋ากางเกง
กันเงินตกหล่น หรือกระเด็นออกจากกระเป๋ากางเกง
เวลาวิ่งเล่น หรือ เล่นซุกซน 
หรือ กลัวขโมยขโจรล้วงกระเป๋ากางเกง
ตามคำบอกเล่าผู้ใหญ่ที่ขู่ให้หวาดกลัว
เวลาจะใช้จะค่อย ๆ แกะยางหนังสติ๊กออกมา
แล้วค่อยหยิบเงินจับจ่ายซื้อของต่อไป
ถ้ามีเงินทอนที่เหลือก็จะใส่กระเป๋ากางเกง
แล้วเอาหนังยางสติ๊กมัดกลับตามเดิมอีกครั้ง

สมัยก่อนใครที่พกเงินในกระเป๋า
มากถึงยี่สิบบาทถือว่ามากแล้ว
ยิ่งใครมีเงินในมือหรือกระเป๋าถึงจำนวนขนาดนี้
เพื่อน ๆ มักจะถือกันว่า เว้ง หรือแปลว่า เข้มแข็ง
คือมีความมั่นใจ ว่ามีเงินมากพอแล้ว
เวลาจะไปไหนมาไหนก็สบายใจ
หรืออุ่นใจว่ามีเงินมากพอแล้ว

ภาพประกอบ น้ำแข็งบอก จาก Link

http://krabiwalkingstreet.com/wp-content/uploads/2011/03/201103111830_00018.jpg



เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาตาม link นี้เลยครับ


http://www.pantown.com/board.php?id=6922&area=4&name=board6&topic=47&action=view





1. ปลากริมสี (Trichopsis pumilus)
โตเต็มที่มีความยาวประมาณ 4 ซม. ซึ่งจะมีขนาดเล็กที่สุด
จากทั้ง 3 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย 
เราสามารถพบปลากริมสีได้ในเขตภาคกลาง
ของประเทศไทย ตลอดลงไปจนถึงประเทศมาเลเซียในแหลมมลายู 
และ ในประเทศเขมร 


2. ปลากริมควาย (Trichopsis vitattus)
เป็นปลากริมขนาดใหญ่ที่สุดโตเต็มที่ประมาณ 7 ซม. พบได้ง่ายมีทั่วไป
ทั้งเเหล่งน้ำนิ่ง เเละเเหล่งน้ำทีมีกระเเสน้ำไหล น้ำที่ขังตามทุ่งต่างๆ
รวมทั้งท่อน้ำทิ้งริมถนน มีการกระจายพันธุ์ในกว้าง
ทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกประเทศ
และจากการกระจายพันธุ์ในวงกว้างมาก 
ทำให้เกิดความพิเศษในปลาแต่ละถิ่น
จึงมีมีลักษณะและสีเเละลวดลายแตกต่างกันไปบ้าง
ตามเเหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร เเละปัจจัยเเวดล้อมต่างๆกัน 


3. ปลากริมอีสาน (Trichopsis schalleri)
โตเต็มที่ประมาณ 6 ซม. พบได้ทางภาคอีสานของไทย
เเต่มีรายงานการพบปลากริมอีสานอาศัยปะปนอยู่กับกริมควายในหลายพื้นที่
เเละมักมีลักษณคล้ายคลึงกับอีกสองสายพันธุ์ จนมักมีการโต้เเย้งกันอยู่เสมอ
ในการจำเเนกปลาชนิดนี้ ออกจากอีกสองชนิดที่พบ
เเต่เนื่องจากในธรรมชาติจากรายงานพบว่าไม่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กัน
ปลากริมอีสานจึงจัดว่าเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น