วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-วงในยางพารา

ปัญหาเรื่องยางพาราราคาตกต่ำมาก
พอ ๆ กับยุคสมัยก่อนที่ราคาหุ้นต่ำมาก
ขนาดถูกกว่าลูกอม Halls 3 เม็ดบาท
หรือถือหุ้นสามบริษัทราคาไม่ถึงบาทหนึ่งเป็นต้น
หรือตอนนี้ราคายางพารา 3 โลร้อย
ยางพารา 3 กิโลกรัม 100 บาท
บางวันราคาลดลงถึงกิโลกรัมละ 5 บาท
แต่เดิมวันหนึ่งลดลงอย่างมากไม่เกิน 0.25-0.50 บาท

จากการนั่งคุยกับปราขญ์ชาวบ้านคลองหวะ(ลุงลัพธ์ หนูประดิษฐ์)
ได้สรุปบทเรียนอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นวิชาการว่า
แต่เดิมนานมากแล้ว  ทางพรรคคนใต้ได้มีนโยบายหลักคือ
ให้โอนกิจกรรมของ สกย. สำนักงานส่งเสริมการยาง
ให้แต่ละตำบลมีโรงรมควันยางพาราของชุมชน
แล้วให้ชาวบ้านทำยางแผ่นไปรมควัน
รอจังหวะขายเมื่อราคายางสูงขึ้น
กับทำให้ปริมาณยางพาราที่จะออกสู่ท้องตลาด
ไม่ประดังออกมาพร้อมกันจำนวนมาก
แต่ปัญหาที่พบตอนนี้ก็คือ  ชาวบ้านขายน้ำยางสด

น้ำยางสดกรีดเสร็จรอขายประมาณ 8 โมงเช้าก็ได้รับเงินสดแล้ว
แต่ยางแผ่นรมควันต้องทำการรีดยาง  ทำดอกยางแผ่น
ประมาณก่อนเที่ยงวันจึงจะเสร็จ
เก็บไว้ ตากแดด ผึ่งแดดในบ้าน/ชายคา
กว่าจะได้ขายก็รออีกประมาณ 10 วันไม่ทันใจ
ทำให้ตอนนี้ปริมาณน้ำยางสดออกมาสู่ตลาดมาก
หลักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้านที่รู้และเข้าใจกันคือ  
ของมากราคาถูก  ของน้อยราคาแพง

การซื้อขายน้ำยางสดก็มีกลเม็ดเด็ดพรายของชาวบ้าน
โดยการปลอมปนน้ำลงในน้ำยางสด
ตัวอย่างเช่น  น้ำหนัก  % ยางพาราทั่วไปที่ 35%
ใส่น้ำลงไปประมาณ 10 ลิตรก็จะได้เงินเพิ่มขึ้น
แม้ว่าจะทำให้ % ยางพาราลดลงเหลือ 30%
คำนวณง่าย ๆ   30*60=18.0 กิโลกรัม * 50.-บาท จะได้  900.-บาท
แต่ถ้าไม่ปนน้ำยางได้  35*50=17.5 กิโลกรัม * 50.-บาท จะได้  875.-บาท
จะเห็นว่ามีส่วนต่างเพิ่มขึ้นประมาณ 25.-บาท
ทำให้ชาวบ้านบางคนปลอมปนน้ำลงไป

แต่ผู้ขายก็มีวิธีการแก้ลำในการนี้
คือตัววัด % น้ำยางเมโทรแล็ค
ถ้าถูกความร้อนจะวัด % น้ำยางพาราเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าถูกความเย็นจะวัด % น้ำยางพาราลดลง
ดังนั้นมักจะแช่ในตู้เย็นก่อนออกมาวัด % น้ำยางพารา
หรือใช้น้ำเย็นผสม/ล้างตัววัดเมโทรแล็ค
ทำให้ตอนวัด % น้ำยางลดลงไปอีก

ขณะเดียวกันชาวบ้านที่นกรู้บางคน
ก็จะเอาน้ำร้อนใส่ลงในถังน้ำยางที่ผสมน้ำ
คนรับซื้อยางพาราที่เขึ้ยวกว่าก็จะจับถังดู
ถ้าถังน้ำยางสดยังอุ่น ๆ อยู่ก็บอกรอเดี๋ยวต๊ะ
รับซื้อของคนอื่นก่อนเพราะเขารีบ
พอถังน้ำยางสดเย็นลงค่อยมารับซื้อน้ำยางสด
เพราะตอนนั้นวัดแล้ว % น้ำยางลดลงแล้ว

บางครั้งคนขายน้ำยางพาราให้กับผู้รับซื้อ
หรือลูกจ้างโรงงานรับซื้อน้ำยางพารา
จะแอบตักน้ำยางเจ้าที่มี % น้ำยางพาราสูง
ใส่ลงในกระบอกวัด % น้ำยาง
ทำให้ได้ราคาน้ำยางสูงขึ้นเช่นกัน
รองลงมาแม้ว่าจะมีการทดลองทำเป็นยางแผ่นทดสอบ
ก็ใช้วิธีการแบบเดียวกันโดยการลอบใส่น้ำยางเจ้าอื่น
ที่มี % น้ำยางสูงให้แทน
เรื่องแบบนี้เรียกว่าเอากันตอนทีเผลอ
หรือบางทีเป็นการสมคบคิดกันระหว่างสองคน
เพราะลูกจ้างก็คือลูกจ้างไม่ใช่เจ้าของ
ทำนองเดียวกับคนเลี้ยงช้างมักจะกินอ้อยช้างบ้าง

การผสมน้าลงในน้ำยางพารา
จะทำได้กับยางพาราที่มีอายุมากแล้ว
ส่วนต้นยางพาราที่เพิ่งกรีดใหม่ ๆ ช่วง 6-7 ปีแรก
หรือยังวัยละอ่อนอยู่ % น้ำยางพารา
ยังไม่สามารถดีดขึ้นเกินกว่า 30 แต่อย่างใด
จะมี % น้ำยางประมาณ 25-26%
แล้วค่อย ๆ เขยิบเหมือนนักฟุตบอลเลื่อนชั้น
เลื่อนเกรดไปเตะดิวิชั่น/พรีเมียลีคที่สูงขึ้น

บางรายผสมน้ำลงในน้ำยางพารา
คนน้ำยางไม่ดีหรือกระบวนการผลิตแบบฉ้อ(โกง)ไม่ดี
จะเกิดฝ้ายางเป็นก้อน ๆ เล็ก ๆ
คนรับซื้อก็จะด่าว่า " เห้ ยังปลาหมอกัน "
มีปลาหมอในถังน้ำยางเหรอฟะ
ก็จะถูกหักราคารับซื้อไปตามระเบียบ

กติกาของคนรับซื้อน้ำยางพารา
มักจะกำหนดว่ารับซื้อเพียง 8 วัน
อีก 2 วันให้ต้นยางได้พักผ่อนบ้าง
จะทำให้ต้นยางไม่โทรมและมี % น้ำยางสูง
แต่เอาเข้าจริง 2 วันที่เหลือนั้น
ชาวสวนยางจะนำไปขายเจ้าอื่นก่อน
เช่นขายประจำที่คลองหวะ ก็ไปขายที่รัตภูมิ
ขายเพียง 2 วันแล้วค่อยมาขายเจ้าเดิมอีก
เป็นวัฏจักรวงจรเช่นนี้

ปัญหาเรื่องยางพาราที่สั่งสมมานานคือ
ยางพาราในปัจจุบันสายเลือดชิดเกินไป
สมัยก่อนพันธุ์ยางพื้นเมือง
จะให้ผลผลิต 100 ต้น 1 กิโลกรัม
แต่ยางพันธุ์ให้ผลผลิต 100 ต้น 3 กิโลกรัม
แน่นอน Supply ยิ่งมากราคายิ่งถูก
สมัยก่อนกรีดยางพาราได้น้อย
และยางพื้นเมือง % น้ำยางสูงกว่ามาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ
ตอนนี้การติดตา/เสียบยอดยางพารา
ใช้เมล็ดพันธุ์ 600 แล้วติดตา/เสียบยอด 600 หรือ 235
ทำให้มีผลแบบเป็ดแบบไก่คือสายเลือดชิดเกินไป
เพราะแต่ก่อนยังหาเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง
เพาะเป็นต้นอ่อนก่อนติดตา/เสียบยอดได้

ปัญหาในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ยางพาราราคาสูง
ทำให้ชาวบ้าน/คนกรีดยางบางคนโลภ
ด้วยการอัดปุ๋ย ฉีดฮอร์โมน หรือใส่ยา
เพื่อเร่งปริมาณน้ำยางพาราออกมาให้มากที่สุด
แล้วพยายามกรีดยางพาราทุกวัน
เท่าที่จะกรีดได้แม้ว่าต้นยางควรจะพักบ้าง
เพื่อไม่ให้หน้ายางพาราเสียหาย/ต้นยางโทรม
แต่ผลสุดท้ายแล้วต้นยางโทรมอยู่ดี
หรือหน้ายางพาราตายกรีดไม่ได้อีก
คนที่เสียหายหนักคือเจ้าของสวนยางพารา
ส่วนคนกรีดยางพาราก็เหมือนคาวบอยพเนจร
ที่ไหนมีเงินรางวัลหรือล่าเงินรางวัลได้ก็ไป
ปล่อยให้เจ้าของสวนยางพารานั่งซังกะตายไป

แม้ว่าการปลูกยางพาราจะมีโบนัสก้อนใหญ่
คือ การขายไม้ยางพาราให้กับโรงงานผลิตไม้ยางพารา
แต่ราคาก็ลงมากแล้วในช่วง 2-3 ปีนี้
ราคายางท่อนที่ไปแปรรูปได้ช่วงนี้ตกกิโลกรัมละ 1.80 บาท
ถ้าเป็นไม้ฟืนราคาจะต่ำกว่า 1.00 บาท
แต่การขายเป็นไม้แปรรูปได้นั้น
จะต้องมีการพิจารณาจากความสูง/อ้วนของต้นยางพารา
และไส้ในไม่ดำ คือ ถ้ามีการฉีดยาเร่งน้ำยางพารา
จะทำให้แกนในมีรอยสีดำแปรรูปแล้วไม่สวย
เพราะไม้ยางพาราต่างประเทศเรียกว่า ไม้สักขาว
ถ้าอบน้ำยา/กระบวนการผลิตดี ๆ จะอยู่ได้ถึง 20 ปี
ก่อนที่น้ำยาจะหมดสภาพแล้วเป็นอาหารมอด/ปลวก

ในการรับซื้อไม้ยางพาราต้องดูประวัติศาสตร์อดีตด้วย
ถ้าเคยเป็นเขตฐานที่มั่นหรือเคยมีการปะทะ
กับโจรจีนมาลายาหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
บางแห่งจะไม่รับซื้อเข้าโรงงานเลย
แต่จะรับซื้อแบบไม้ฟืนไปเลย
เพราะตอนเลื่อยเกิดเจอลูกกระสุนปืนฝังในต้นไม้
ปลิวใส่แรงพอ ๆ กับลูกปืนยิงใส่ไม่ตายก็เจ็บ
แต่ที่เจ็บยิ่งกว่าคือ ใบเลื่อยที่เสียหาย
ใบหนึ่งไม่ใช่ราคาถูก ๆ และการติดตั้งก็ไม่ใช่ง่ายด้วย

หลังจากตกลงรับซื้อไมัยางพารากันแล้ว
จะต้องมีการสำรวจ/นับต้นกัน
ไร่หนึ่งจะปลูกต้นยางพาราได้ 70 ต้น
จะนับจำนวนต้นก่อนและรวมจำนวนคิดเป็นไร่
ราคาซื้อขายจะคิดกันเป็นไร่
ช่วงราคาดี ๆ เคยมีคนขายได้ไร่ละ 2 แสนบาท
แต่ต้องติดกับถนนใหญ่และชักลากได้ง่าย
ราคาไม้ยางพาราจะขายได้แพงในช่วงตุลาคม-มกราคม
เพราะเป็นช่วงหน้าฝนของภาคใต้
ความต้องการไม้ยางพาราของโรงงานมาก
ส่วนหน้าร้อนการชักลากง่ายราคาจึงถูกลง

แต่ตอนนี้ตกอยู่ที่ราคาประมาณไร่ละ 6 หมื่นบาท
เรื่องการซื้อขายไม้ยางพาราในสมัยก่อน
จะมีลูกเล่นคือ ซื้อขายราคาสูงแล้วค่อยมาหักค่าดันค่าไถ
สมัยก่อนไร่ละ  5 พันบาทตอนนี้ประมาณ 2 หมื่นบาท
การซื้อขายไม้ยางพาราจึงต้องตกลงให้ชัดเจน
ว่าขายสุทธิ  อย่ามาหักค่าดันค่าไถต้นยางพาราอีก

สมัยก่อนต้นตอกับรากยางพาราไม่มีราคาเลย
ต้องดันกอง ๆ ไว้แล้วเผาทิ้งในช่วงฤดูแล้ง
แต่ตอนนี้มีราคาเพราะโรงงานรับซื้อนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้
เรียกว่าขุด/ดึงขึ้นมาเท่าที่จะทำได้มากเท่าไรมีกำไรแฝงมากเท่านั้น
เป็นแรงจูงใจให้คนรับซื้อขยันดัน/ขุดต้นยางพาราขึ้นมามากขึ้น

ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ
ถ้ามีการล้มพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น
จำนวนปริมาณน้ำยางที่จะออกสู่ท้องตลาดลดลง
ก็จะทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นมาก
ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตยางพารารายใหญ่
ตอนนี้ประเทศไทยมีจังหวัดที่ยังไม่มีการปลูกยางพาราเพียง 8 จังหวัดเท่านั้น
แสดงว่าอีกไม่นานปริมาณยางพาราจะออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก

คำถามว่าถ้าตอนนี้กลับไปทำยางแผ่นเพื่อรมควันได้หรือไม่
คำตอบของลุงลัพธ์ คือ  เครื่องจักรรีดยางขายช้าดแล้ว
ขายไปหมดแล้วไม่เหลืออีกเลย
ถ้าจะซื้อกลับมาทำใหม่ก็ต้องลงทุน
รองลงมาก็คือ หาคนทำยางแผ่นยากแล้ว
เพราะขายน้ำยางสดได้เงินเร็วกว่า

ปัญหานี้กระทบกับโรงงานรมควันยางพาราชุมชนในบางพื้นที่
เพราะชาวบ้านหันมาขายน้ำยางสดแทน
ทำให้ปริมาณยางแผ่นขาดหายไปมาก
จนหลายโรงงานกลายเป็นโรงงานร้าง
ทิ้งให้วัวให้ควายหรือแมงมุมค้างคาวอาศัยแทน
การรื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่ก็เรื่องแรงงาน
กับเรื่องเงินทุนที่รับซื้อยางพาราแผ่น
แม้ว่าจะมีการปรึกษากันว่า
ให้นำเงินบางส่วนตั้งเป็นกองทุนหรือถือหุ้น
เช่นขายยางแผ่น 100 กิโลกรัมหักซัก 10 กิโลกรัม
ตั้งเป็นกองทุนหรือถือหุ้นเพื่อให้มีเงินหมุนเวียน
แต่ก็ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากชาวบ้าน
เพราะอยากได้เงินเร็วและกลัวปัญหาอื่น ๆ
กอปรกับราคายางผันผวนมาก  ขึ้นเร็ว ลงเร็ว
สมัยก่อนราคายางพารามี 4 ราคาในแต่ละวัน
เรียกว่าเข้าผิดจังหวะก็ขาดทุนทันที
เข้าถูกจังหวะก็ร่ำรวยทันที  ไม่ต่างกับตลาดหุ้น
โอกาสที่โรงงานรมควันยางพาราชุมชนเจ๊งง่ายเช่นกัน

ปัญหาที่รองลงมาคือ ตอนนี้คนกรีดยางพาราส่วนมากเป็นพม่า
เวลากรีดยางพาราเจ้าของต้องตามใจคนกรีดยางพารา
เพราะหาคนกรีดยางพาราจากอีสาณยากแล้ว
รวมทั้งคนพม่าไม่ค่อยกล้าออกมาในเมือง
เพราะมักจะเจอการรีดไถ/หาเรื่องจับรีดเงิน
ส่วนมากจะอยู่แต่ในสวนยางพารา
จึงมีเวลากรีดยางมากขึ้นแล้วมีโอกาสเป็นแบบคาวบอย
คือ สวนไหนหน้ายางเสียหายก็จรไปที่อื่น
แต่คนดีก็มี คนชั่วก็มาก  เรื่องแบบนี้พูดลำบาก
เรียกว่าโชควาสนาของเจ้าของสวนยางไม่เหมือนกัน

สมัยก่อนคนกรีดยางพาราพม่า
มักจะนำเงินสดกลับเข้าพม่าทางระนอง
จึงมักถูกปล้นกลางทางทั้งทางฝั่งไทย
หรือเข้าไปในพม่าก็ถูกปล้นเช่นกัน
แต่ตอนนี้มีการโอนเงินโดยตรงไปได้
ปัญหาแบบนี้จึงหมดไปในระดับหนึ่ง

อีกปัญหาอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านไม่ชอบขายยางแผ่น
เพราะพ่อค้ามักจะท่องคาถาในใจสามคำ
คือ  ฉ้อ(โกง)  ขอ   หัก
ฉ้อคือ ตั้งแต่การชั่งน้ำหนักไม่ครบหรือขาดหายไป
ชาวบ้านบางคนชั่งน้ำหนักยางพารามาจากบ้านแล้ว
แต่เวลาชั่งที่ร้านรับซื้อยางพาราน้ำหนักมักจะหายไป
ทำให้ยื้อกับคนขายดึงลูกตุ้มชั่งน้ำหนักยางพาราไปมา
จนคนขายต้องใช้วิธีจ่ายเงินดันหลัง คือให้ก่อน 200-300 บาท
ให้ไปซื้อข้าวของ สูบบุหรี่ดื่มน้ำรอก่อน
อย่ามายุ่งในตอนชั่งน้ำหนักยางพารา

ขอ คือ เวลาชั่งน้ำหนักเสร็จแล้ว
ยางพาราที่มาขาย 100 กิโลกรัมขอซัก 1 กิโลกรัม
หรือซักครึ่งกิโลกรัม  หลาย ๆ คนก็ได้ฟรีมาจำนวนมากเช่นกัน

หัก คือ หัก % น้ำในแผ่นยางพารา
แม้ว่าจะตากยางแผ่นแห้งขนาดไหนแล้ว
เวลารมควันยางพาราจะมีอัตราน้ำที่หายไปในการรมควัน
เฉลี่ยถึงร้อยละ 20 ทีเดียวโดยประมาณ
เช่นน้ำยางเข้ารมควัน 10,000 กิโลกรัมจะมีน้ำหนักหายไปร่วม 200 กิโลกรัม
ดังนั้นคนตีน้ำ(น้ำในแผ่นยางพารา) เก่ง ๆ จะค่าตัวสูงมาก
หรือ หักค่าแผ่นยางสกปรกต้องตัดออกก่อนรมควัน
หรือหาข้อตำหนิว่ายางพารามีใบไม้ เศษดินปน  เป็นต้น
ส่วนที่หักก็คือ กำไรแฝงของพ่อค้าเช่นเดิม

ส่วนชาวสวนบางคนสมัยก่อนเวลาขายขี้ยาง
ที่ต้องปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ก่อนขาย
บางรายจะปนก้อนซีเมนต์ที่กระเทาะจากฝาบ้าน
หรือไปหาจากบ้านร้างใส่เข้าไปข้างใน
ทำให้ได้น้ำหนักก้อนขึ้ยางพาราเพิ่มขึ้น
โรงงานยางจิ้นฮงสมัยก่อนเจอเรื่องนี้
เครื่องจักรดังโคร่ง ๆ พังไปเลยหนึ่งตัว
เลยดัดลำด้วยการโยนให้แตกกระจาย
หรือเอามีดที่ทำจากแหนบรถยนต์ผ่าดูกันเลย

ปัญหาว่าเอายางพาราไปราดถนนร่วมกับยางมะตอย
เป็นเรื่องที่พูดคุยมาหลายปีแล้ว
แต่การพัฒนาสูตรในการทำต้องใช้เวลา
รวมทั้งเงินทุนในการรับซื้อน้ำยางพาราไปผลิต
การขนส่งน้ำยางพาราไปผลิต
กับปัญหาความนิ่งของน้ำยางพาราที่จะไปผลิต
เรื่องเหล่านี้ภาษาชาวบ้านมักจะพูดว่า
ทำกับปากง่ายเพ  ลองทำจริงหืดขึ้นคอ
หรือ ทำเกษตรกับกระดาษกับปาก รวยเพ
ทำจริงได้เป็นแสนทีเดียว (แสนสาหัส)

ส่วนต้นยางพันธุ์ที่ให้น้ำยางมาก ๆ
เท่าที่ทราบจากการพูดคุยของชาวบ้านตอนนี้มี
ของถ้ำพรรณนรา ที่พัทลุง กับของบ้านฉาง  นาทวี
แต่ข้อมูลนี้ยังไม่ยืนยันว่าจริงหรือไม่
เพราะพืชผลทุกอย่างขึ้นกับ ดิน น้ำ ลม ไฟ(แสงแดด)

เขียนขึ้นจากความทรงจำร่วมกัน
ก่อนที่จะปลิดปลิวหายไปเหมือนใบยางพาราที่ร่วงหล่น

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-เลี้ยงผึ้ง(ตรีบท)

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-เลี้ยงผึ้ง(ตรีบท)
มีข้อสังเกตจากลุงลัภย์ที่แปลกอย่างคือ
รวงผึ้งที่มีน้ำหวานของผึ้งป่าหรือธรรมชาติ
จะอยู่ที่ส่วนล่างสุดของรังผึ้ง
ตัวอ่อนของผึ้งจะอยู่ด้านบน
ส่วนผึ้งเลี้ยงในกล่องหรือรัง
รวงผึ้งที่มีน้ำหวานจะอยู่ส่วนบนของรังแบบแขวน
เป็นชั้น ๆ ภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง
ส่วนตัวอ่อนจะอยู่ด้านล่างของรังผึ้ง

ภาพประกอบจาก Internet กล่องเลี้ยงผึ้งที่ผึ้งจะทำฝาด้านบน
กับภาพจำลองราวที่เป็นช่องใส่เลี้ยงผึ้งจะตัดจากด้านบน
มาใส่ที่ราวลวดสีเทา ผึ้งจะสร้างรังตามกรอบสี่เหลี่ยม



การมีลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างรังสองประเภทนี้
น่าจะมาจากในช่วงที่ผึ้งเลี้ยง
เริ่มสร้างรังใหม่ใต้ฝากล่องด้านบน
เมื่อมีพอสมควรแล้วและมากพอ
คนเลี้ยงผึ้งจะทำการตัดรวงผึ้งทั้งรวง
แล้วนำรวงผึ้งมาวางในช่องสี่เหลี่ยมตามภาพ
ที่มีลวดแขวนกั้นอยู่เป็นสองแนว
ให้น้ำหวานอยู่ด้านบน
ส่วนตัวอ่อนจะอยู่ด้านล่าง

พวกผึ้งงานก็จะทำงานตามแบบดังกล่าว
คือ ให้น้ำหวานอยู่ด้านบน
ส่วนพวกตัวอ่อนผึ้งจะอยู่ด้านล่าง
เวลาสิ่งสกปรกตกหล่น
หรือมีตัวผึ้งตายหรือผึ้งอ่อนตาย
จะตกลงที่พื้นด้านล่างของกล่อง
สัปเหร่อผึ้งจะได้หามศพไปทิ้งง่าย ๆ
หรือผึ้งเทศบาลจะทำงานได้สะดวกขึ้น



แต่ถ้าเป็นรังผึ้งป่าตามธรรมชาติ
แรงโน้มถ่วงโลก Gravity
จะทำหน้าที่แทนทั้งหมด
กล่าวคือ วัตถุทั้งหลายจะตกลงสู่พื้นดิน
ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกตามทฤษฏีนิวตัน
ของหนักกับของเบาจะตกสู่พื้นดิน
ด้วยอัตราเร่งเท่าเทียมกัน
ในสภาพไม่มีลมแรงกรรโชก
ตามทฤษฏีของกาลิเลโอ
สองทฤษฏีประกอบกันสำหรับรังผึ้งธรรมชาติ
ทำให้ผึ้งงานประเภทผึ้งเทศบาลกับผึ้งสัปเหร่อ
ทำงานน้อยกว่าผึ้งเลี้ยงในรวงรัง



หรือน่ามาจากหลักอากาศร้อนลอยขึ้นบน
ผึ้งในป่าธรรมชาติจะมีรวงน้ำผึ้งด้านล่าง
รังผึ้งตัวอ่อนจะอยู่ด้านบน
น่าจะเป็นการช่วยให้เวลาฝนตกน้ำฝนไหลลงไปเร็ว
ไม่ค่อยกระทบกระเทือนลูกผึ้งตัวอ่อน
ส่วนน้ำหวานกระทบกระเทือนบ้างแต่จะไม่มากนัก
เพราะมีฝาปิดบาง ๆ ส่วนหนึ่งกับมีลักษณะเหนียวข้น
มีน้ำเจือปนน้อยมาก การที่ผึ้งกระพือปีกเหนือรังน้ำผึ้ง
เป็นการระบายความร้อนและช่วยให้มีการระเหยของน้ำเร็วขึ้น

ส่วนในรังที่มนุษย์สร้างให้กับผึ้งเลี้ยง
น้ำหวานจะอยู่บนเพราะความร้อนจะไหลขึ้นบน
ช่วยให้ไม่ต้องช่วยในการระเหยน้ำในน้ำผึ้งมากนัก
ส่วนด้านล่างอากาศจะเย็นกว่าด้านบนบ้างเล็กน้อย
และไม่ต้องกังวลกับฝนเพราะมีฝาปิดกันฝนได้

ภาพประกอบจาก Internet รวงผึ้งเลี้ยงจะมีน้ำหวานอยุ่ล่าง



ผลจากการใช้เสน่ห์นางพญาผึ้ง
มาล่อให้ผึ้งมาสร้างรวงรังใหม่ได้แล้ว
มนุษย์ยังปัญญากว่าผึ้งเสียอีก
คำว่า ปัญญา ในภาษาใต้มีสองนัย ๆ
นัยแรกคือ เฉลียวฉลาดเจ้าปัญญาจริง ๆ 
กับอีกนัยหนึ่ง หมายถึงทำอะไรที่สะเหร่อ ๆ 
หรือดูว่าค่อนข้างโง่เขลาเบาปัญญา
พวกตัวตลกหนังตะลุงมักจะด่ากันเอง
เวลามีคนหนึ่งคนใดทำอะไรที่ไม้เข้าท่าว่า
ปั่น ยา (ลากเสียงยาว) จิ๊ง เรา หรือ คน เรา

ภาพประกอบจาก Internet จะมีผึ้งมิ้มตัวเล็กปนอยู่่ สังเกตตัวเล็กกว่าตัวอื่นๆ


คนมักจะนำเอาน้ำผึ้งจากรังอื่น
ผสมน้ำแล้วใช้พวก Proxy หรือที่ฉีดยากันยุ่งสมัยก่อน
ฉีดพ่นใส่รังผึ้งรังใหม่
จะทำให้กลิ่นผสมปนเปกันไปหมด
นายทวารผึ้งสองตัวหลักที่เฝ้าประตูเข้าออกรังผึ้ง
กับผึ้งงานตัวอื่น ๆ จะแยกแยะกลิ่นไม่ออก
ทำให้ผึ้งงานตัวอื่น ๆ ที่หลงทางมา
สามารถเข้าออกรังผึ้งใหม่นี้ได้
จะทำให้มีจำนวนน้ำผึ้งและปริมาณผึ้งงานมากกว่าเดิม

ระยะยาวก็จะทำการขยายรังผึ้งเพิ่มเติม
ด้วยวิธีการสร้างรังผึ้งใหม่
มารอไว้ใกล้ ๆ กับรังเดิม
พร้อมกับทายาเสน่ห์นางพญาผึ้งไว้ที่รังใหม่
เมื่อปริมาณผึ้งมากพอแล้ว
ก็จะทำการขยายรังผึ้งออกไปเรื่อย ๆ

แต่ปัญหาที่พบตอนนี้คือ
ปริมาณเกสรดอกไม้ที่ผึ้งงานหามา
กับน้ำหวานของผึ้งงานหามาแต่ละวัน
มักจะไม่เพียงพอกับจำนวนผึ้งในรัง
ทำให้ต้องมีการนำน้ำตาลหรือกล้วยสุก
วางไว้ให้ผึ้งนำไปเลี้ยงผึ้งอ่อนแทนน้ำหวานจากธรรมชาติ

ปัญหาที่ตามมาคือ
ผึ้งเลี้ยงที่ไม่เป็นแบบธรรมชาติ
มักจะมีนกมาโฉบกินจำนวนมาก
แถวสงขลาเรียกว่า นกฉาบคา
มีลำตัวสีเขียว ๆ บินเร็วมาก

ที่เคยไปเห็นที่บ้านช้างกลาง
จะนำเทปม้วนกลมใหญ่ ๆ ที่มีสีน้ำตาลออกดำ
ขึงพาดไปมาบนแถวกล่องเลี้ยงผึ้ง
นัยว่าแสงสะท้อนจากเทปดังกล่าว
เป็นการไล่นกไม่ให้มารอจับกินผึ้งงาน
ส่วนแถวน้ำน้อยยังไม่เคยไปเยี่ยมชม
ไม่แน่ใจว่ายังมีการเลี้ยงผึ้งอีกหรือไม่

ภาพประกอบจาก Internet นางพญาผึ้งตัวใหญ่กว่าตัวอื่น ๆ


แต่แถวหลังวัดพะโคะ 
สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์
(หลวงพ่อทวด) ที่บางตำนานอ้างว่า
ท่านเกิดแถวนี้ก่อนจะมีชื่อเสียงโด่งดัง
ที่วัดหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้

แต่หลายสิบปีก่อนสมัยที่ผมยังทำงานที่
ธนาคารไทยแห่งแรกได้ไปกับหัวหน้า
คนขับรถยนต์ของหัวหน้า
และผู้จัดการสาขายะลากับคนขับรถ
เพื่อนิมนต์อาจารย์นอง วัดทรายขาว
สหธรรมิกของอาจารย์ทิม วัดช้างไห้
(ซึ่งถึงแก่มรณกรรมไปก่อนแล้ว)
ให้ไปทำพิธีปลุกเสกหลวงพ่อทวด
ที่สร้างโดยธนาคารไทยแห่งแรก

แต่มีการปลุกเสกนอกวัดช้างไห้ วัดทรายขาว 
(วัดประสาทบุญญาวาส วัดที่อาจารย์ทิม
มักจะไปพักตอนขึ้นไปกรุงเทพฯ)
อาจารย์นองตอบปฏิเสธว่า
ผิดธรรมเนียมกับข้อตกลงกับอาจารย์ทิม
ถ้าไม่ไปร่วมกันในงานทั้งคู่
การปลุกเสกนอกวัดที่กำหนดสามวัดนี้
จะไม่ไปทำพิธีปลุกเสกหลวงพ่อทวดให้

แต่ถ้าไปทำพิธีปลุกเสกหลวงพ่ออื่น
หรือพระพุทธรูปอื่น ๆ ยินดีรับนิมนต์(ทำให้)
แต่ไม่ขัดขัองที่จะจารเผ่นทองแดงหรือแผ่นเงินหรือแผ่นทองคำ
ที่จะไปทำพิธีหลอมรวมสร้างพระหลวงพ่อทวดให้แต่อย่างใด

ผมเลยสอบถามท่านว่า 
หลวงพ่อทวดวัดช้างไห้กับหลวงพ่อทวดวัดพะโคะ
เป็นท่านองค์เดียวกันหรือไม่
อาจารย์นองตอบเลี่ยง ๆ ว่า
ถ้าเป็นคนเดียวกันทำไมไม่ดังที่นั่นแต่แรก
แล้วก็ไม่ตอบอะไรอีก
นอกจากพูดคุยธรรมะสรรพเพเหระ
ก่อนพวกผมจะนิมนต์ลาท่านกลับหาดใหญ่

แถวป่าเสม็ดก่อนถึงเขาในหลังวัดพะโคะ
เห็นมีการวางรังเลี้ยงผึ้งอยู่บ้าง
แต่จำนวนน้อยรัง
สอบถามชาวบ้านบอกว่าไม่ค่อยได้ผล
ต้องใช้น้ำตาลเลี้ยงอยู่จึงจะมีน้ำผึ้งเพียงพอ

คำว่าผึ้งในภาคใต้จะเรียกหลายแบบ
เช่น ผึ้งโพลง มิ้มใหญ่
รวน หรือ ยวน ผึ้งตัวเล็ก ๆ
เหมือนผึ้ง มิ้ม ที่แถวอีศาณ เรียกกัน
จำได้ว่าเป็นรังเล็ก ๆ กะทัดรัดมาก
ไปกับพี่ชายคนหนึ่งที่ไปพักอาศัยบ้านพ่อแม่ของแก
สมัยไปออกค่ายสร้างโรงเรียน
ที่บ้านเพ็ดน้อย ตำบลประทาย
อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา

แกพาไปเอาน้ำผึ้ง มิ้ม
ที่สร้างรังในศาลาวัดกับบัวของชาวบ้าน
ขนาดรังเล็มมากประมาณหนึ่งฝ่ามือผู้ใหญ่
สำหรับรังที่เห็นแล้วนำน้ำผึ้งมาดื่มกิน
เพราะเพิ่งสร้างจากไข้หวัดใหญ่กลืนกินอาหารลำบากมาก


หมายเหตุ ที่ผ่านมาผมเคยพบผึ้งป่าแบบใกล้ชิดสามครั้งคือ

ครั้งแรก ตอนเด็ก ๆ ผึ้งป่าย้ายหลังเกาะรออยุ่ที่ต้นน้อยหน่าหลังบ้าน
เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ไม่นานมีเด็กอีกคนเอาหินปาใส่ 
ฝูงผึ้งทั้งฝูงบินโฉบหนีไปทีอื่น 
ปรากฎว่าผมถูกผึ้งหลงตัวหนึ่ง
บินต่อยที่ใบหน้าหนึ่งครั้ง (ไม่เจ็บมากนัก)

ครั้งที่สอง ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ หาดใหญ่  
ฝูงผึ้งมาทำรังบนชายคาศาลาอุโบสถวัด
ไม่นานผึ้งตกลงมาตายเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเป็นรังผึ้งร้าง
ถามพระภิกษุหลังจากผมสึกไม่นานแล้ว
ทราบว่าน่าจะตายกับยาฆ่าแมลง 
หรือยาฆ่ายุงของเทศบาลที่ใส่เครื่องฉีดฆ่ายุง
พ่นเป็นหมอกควันสีเหลืองกลิ่นฉุนเฉียว
เพราะขนาดแมลงสาบตามท่อยังบินออกมาตายเลย

ครั้งที่สาม ที่กงสียางพาราแถวบ้านในคลองแงะ
เห็นทั้งฝูงเกาะตรงกันกรอบหน้าต่างบ้านที่เป็นที่เก็บของ
ยืนดูใกล้ ๆ ก็ไม่มีอาการดุร้ายหรือต่อยแต่อย่างใด

ส่วนที่เลี้ยงผึ้งขายที่ฟาร์มผึ้งแคแมรอน- มาเลย์ 
ที่เคยไปเที่ยวมาหลายครั้งแล้ว
ทัวร์มักจะพาเข้าไปชมเป็นประจำ
จะเน้นการขายน้ำผึ้งและส่วนผสมอื่น ๆ 
มากกว่าการแสดงโชว์หรือสาธิต
มีภาพต่าง ๆ นำเสนอมากกว่า


แถวบ้านเพ็ดน้อย อำเภอประทาย โคราช
สมัยก่อนกันดารมาก  ขนาดร้านชำในหมู่บ้านยังไม่มีเลย
เซ่เว่นส์ยังไม่มีที่อำเภอเลย 
อาหารก็กินแบบชาวบ้าน
ทางเข้าออกหมู่บ้านยังเป็นดินลูงรักฝุ่นตลบ
มีรถยนต์กะบะหลังคาไม้เข้าออกเมือง
ไปกลับวันละหนึ่งเที่ยวเท่านั้น

ออกแต่เช้าถึงอำเภอเกือบสิบเอ็ดโมง
กลับเข้าหมู่บ้านประมาณบ่ายโมงเศษถึงบ่ายสองโมงเศษ
กว่าจะถึงหมู่บ้านถ้าหน้าแล้งก็ก่อนห้าโมงเย็น
แต่ถ้าหน้าฝนถนนลื่นเข้าออกลำบาก
ชาวบ้านบอกว่าเผลอ ๆ นอนกินข้าวลิงกัน
หมายถึง หาอาหารการกินข้างทางมากิน
หรือกินเสบียงอาหารที่ตระเตรียมมาแทน
เพราะรถยนต์วิ่งไม่ไหวฝนตกถนนลื่นเป็นหลุมเป็นบ่อมาก

ยังจำได้ดีว่า หมู่บ้านนี้หน้าแล้ง
จะมีสีขาว ๆ ผุดขึ้นตามท้องนา
ชาวบ้านบอกเอาไปละลายน้ำ
แล้วกรองสิ่งสกปรกออก
ต้มสักพักใหญ่แล้วตากให้แห้ง
จะได้เกลือสินเธาว์มาใช้งาน


ส่วนที่สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
จะมีผึ้งอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า อุง
หรือบางแห่งเรียกว่า ชันโรง
มีขี้ผึ้งเหมือนกับประเภทชันยาไม้
สามารถใช้ประโยชน์ได้
มีน้ำผึ้งจำนวนหนึ่งแต่น้อยมาก
ใช้ประโยชน์มากคือ ขี้ผึ้งส่วนนี้

ลุงลัภย์เล่าให้ฟังตอบจบหลักสูตรว่า
อาจารยประดับ แจ่มแสง 
ให้ทุกคนหาดอกไม้ธูปเทียน
ทุกคนต่างต้องเข้าไปในวิหาร
กราบไหว้พระประธานวัดเทพชุมนุม ที่บ้านพรุ
พร้อมกับท่องคำสาบานว่า
ข้าพเจ้าขอสาบานกับหลวงพ่อว่า
จะไม่ค้าขายหรือปลอมปนน้ำผึ้งขายโดยเด็ดขาด
ถ้าทำการดังกล่าวขอให้ไม่เจริญรุ่งเรือง
มีอันเป็นไปในสามวันเจ็ดวันเทอญ

เพราะการปลอมปนขายน้ำผึ้งทำได้ง่ายที่สุด
ด้วยการเคี่ยวน้ำหวานให้เข้มข้น
ผสมพวกแบ๊ะแซหรือสีผสมอาหาร
ให้ออกดำหรือเหนียว ๆ ข้นมาก
ใส่ขวดขายตามบ้านหรือมีการแปะรังผึ้งไว้โชว์

มีเถ้าแก่เจ้าหนึ่งในหาดใหญ่
ที่มีคนเล่าให้ลุงลัภย์
แล้วแกมาเล่าต่อให้ฟังว่า
เถ้าแก่คนนี้จะว่าจ้างกลุ่มคนอีสาณสมัยก่อน
ทำตัวแบบชาวบ้านที่รับจ้างตัดปาล์มแถวควนกาหลง
หรืออยู่ในนิคมควนกาหลง

ให้จัดอีเวนส์ Event เพื่อสร้างการขายขึ้นมา
ทำเป็นเดินเป็นกลุ่ม ๆ สามสี่คน
เดินออกมาจากป่าเขาแถวสตูล
มาขายน้ำผึ้งในตลาดหรือบนถนนสายใหญ่
ที่มีรถยนต์วิ่งผ่านไปมา
พร้อมกับอุปกรณ์รังผึ้งป่าประดับส่วนหนึ่ง

ส่วนน้ำผึ้งก็เคี่ยวมาจากน้ำตาลทราย
หรือน้ำตาลขี้ม้า (น้ำตาลก้อนที่มีเม็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก)
ผสมกับแบะแซให้เหนียวข้นกว่าปกติ
พร้อมกับเติมกลิ่นหรือผสมน้ำผึ้งบางส่วนลงไป
เวลาเทน้ำผึ้งจะไหลย้อยช้ามาก
แม้ว่าบางทฤษฏีอ้างว่าใช้กระดาษทิซซู่
หรือการเทลงในน้ำเปล่าทดสอบได้

แต่ลุงลัภย์บอกไม่มีทาง
เว้นแต่มืออาชีพจริง ๆ 
ระดับเทพมารอสูรของวงการแล้ว
จึงจะดูออกหรือชิมได้ว่าแท้หรือปลอมปน
คนทั่ว ๆ ไป ต่อให้ชิมให้หมดขวด
หรือเททดสอบให้หมดขวด
ไม่มีทางรู้เลยว่าจริงหรือปลอม

เหมือนกับที่ชาวบ้านมักจะพูดกันว่า
ทางใครทางมัน อาชีพใครอาชีพมัน
วงการใครวงการมัน อย่าล้ำเส้นกัน
ความเก่งกาจสามารถกับการเรียนรู้ต่างกัน

ตัวอย่าง การดูพระเท้หรือพระปลอม
ต่อให้ใช้กล้องส่องทั้งวันยังยากแยกแยะ
ว่าองค์ไหนจริงองค์ไหนปลอมมา
ต้องหลงใหลและศรัทธาอย่างลึกซึ้ง
จึงจะเข้าใจถึงความแตกต่างเรื่องนี้ได้

ลุงลัภย์ยังเคยไปเอารังผึ้งหลวง
ที่ไปทำในชายคาบ้านของเพื่อนแก
ที่หาดใหญ่ได้น้ำผึ้งจำนวนหกขวด
พอได้เสร็จบอกเสียดายรู้อย่างนี้ปล่อยไว้ดีกว่า
แต่สุดท้่ายต้องยอมเปลี่ยนใจ
เพราะเกรงว่าจะมีอันตรายกับเด็กและคนแถวบ้าน

ส่วนเมื่อสองอาทิตย์ก่อน
ผมเข้าไปเยี่ยมเพื่อนช่างไม้ที่
มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของภาคใต้
แกเล่าให้ฟังว่าสองวันก่อนพึ่งจะถูกผึ้งหลวงต่อย
ตอนแกไปตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้า
ด้านล่างต้นไม้ที่ผึ้งหลวงมาทำรังอยู่
ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติแต่อย่างใด

แต่ทันใดนั้นโชคร้ายกิ่งไม้หักหล่นใส่รังผึ้งหลวง
ผึ้งเลยไล่ต่อยแกไปตลอดทาง
ครั้งแรกแกกะจะวิ่งเข้าไปที่ตึกหลังหนึ่ง
ให้ยามช่วยฉีดน้ำยาดับเพลิงใส่ตัวแก
แต่ยามไม่ทราบว่าไปไหน
เลยต้องวิ่งพลางเดินพลางปัดหน้าไปพลาง
เพราะเ่ริ่มไร้เรีี่ยวแรงในการป้องกันตัวแล้ว
จนถึงอีกหน้าอาคารประมาณร้อยกว่าเมตร
นักศึกษาและคนงานวิ่งหนีกันหมด
เพราะเห็นฝูงผึ้งบินห้อมล้อมไล่ต่อยแก

จนไม่นานลูกชายแกที่ทำงานที่เดียวกัน
ขับมอเตอร์ไซด์พาแกนั่งแล้วขับหนีฝูงผึ้งไปอีกตึกหนึ่ง
ผลต้องส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ระหว่างทางถึงเหล็กไนของผึ้งได้ร้อยกว่าเข็ม
ไปถึงโรงพยาบาลอีกร้อยกว่าเข็ม

หลังจากฉีดยาแก้แพ้หนึ่งเข็ม
แล้วให้นอนโรงพยาบาลหนึ่งคืน
วันรุ่งขึ้นหน้าตาค่อยหายบวมเป่ง
กลับบ้านพักผ่อนได้อีกหนึี่่งวัน
ดีทีแกไม่แพ้ไม่นั้นคงตายแล้ว

ไม่เหมือนคนแพ้พวกตัวต่อป่าหรือต่อหลุม
หมายเหตุ ลูกตัวต่อนี้กินอร่อยมาก
เวลามีคนตีมาขายในร้านอาหารหาดใหญ่
นาน ๆ จะได้กินทีหนึ่งตอนนี้เพราะหายาก
ใครโดนเหล็กไนตัวต่อหลุมหรือต่อป่า
โดนสักสองสามเข็มก็มักจะปวดแสบปวดร้อน
ถ้าคนแพ้อาการอาจตายได้ง่าย ๆ
ส่วนมากคนที่โดนต่อพวกนี้ต่อยที่หนังศีรษะ
ผมบริเวณนั้นขนาดเหรียญสิบบาท
มักจะเป็นเส้นผมสีขาว (ที่สังเกตมาหลายราย)

สุดท้าย รังผึ้งหลวงทางผู้บริหารตกลงกัน
ให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการจุดไฟรมควันไล่
แล้วทำลายทิ้งทั้งรัง น้ำหวานตัวอ่อนที่มี
พวกคนงานก็เอาไปแบ่งกันกิน
เพราะเกรงว่าจะทำร้ายกับนักศึกษาหรือคนงานภายหลัง

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ ร่วมกันกับลุงลัภย์
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนฝูงผึ้งป่าในเมือง

หมายเหตุ ภาพประกอบบางส่วนจาก http://www.gotoknow.org/posts/7592

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-เลี้ยงผึ้ง(ทวิบท)

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-เลี้ยงผึ้ง(ทวิบท)

หลังจากศึกษาการทำกล่องเลี้ยงผึ้งแล้ว
จะมาถึงขั้นตอนที่สำคัญคือ เสน่ห์นางพญาผึ้ง
ซึ่งมีเกจิอาจารย์เมืองไทยนิยม
นำมาใช้เลียนแบบทำเป็นสีผึ้งปาก
ในการทำให้พูดจามีเสน่ห์ชวนหลงใหลหรือน่าเชื่อถือ
สำหรับใช้กับคนทั่วไปได้แต่ใช้กับผึ้งไม่ได้

เสน่ห์นางพญาผึ้งจะได้มาด้วยวิธีการคือ
ขี้ผึ้งที่เหลือจากการบีบน้ำผึ้งออกหมดแล้ว
หลังจากตัดส่วนของน้ำผึ้งจากรังผึ้ง
นำมาบีบให้น้ำผึ้งลงในภาชนะบรรจุ
แต่ก่อนบีบให้สังเกตดูว่ามีตัวอ่อนผึ้งอยู่หรือไม่
ให้ค่อย ๆ เขี่ยลงในภาชนะอีกลูกหนึ่งไปก่อน

เมื่อได้จำนวนพอสมควรแล้วนำไปต้มให้สุก
กินได้อร่อยได้รสชาติมากทีเดียว
ทั้งหวานทั้งหอมทั้งมันจากตัวอ่อนผึ้ง
กับน้ำผึ้งที่เจือจางอยู่ผสมเล็กน้อย
บางรายจะใส่เกลือให้มีรสแหลมคมขึ้น
มีบางรายนำไปทอดหรือผัดแล้วแต่ความชอบส่วนตัว
ตัวอ่อนผึ้งแทบจะหากินยากมาก
เพราะจำนวนน้อยส่วนหนึ่ง
กับคนเลี้ยงมักจะนิยมนำไปกินกันเอง
ไม่ค่อยอยากเผื่อแผ่ชาวบ้านร้านตลาด

เมื่อบีบน้ำผึ้งกับมือจนหมดแล้วในรอบแรก
ให้นำขี้ผึ้งไปวางท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อนระอุอีกรอบหนึ่ง
วางบนกระชอนที่เป็นพวกไม้ไผ่สานยิ่งดี
ความเชื่อบางคนเล่าว่า
ถ้าวางบนโลหะหรือพลาสติคจะมีกลิ่นเล็กน้อย
เพราะความเป็นกรดเข้มข้นของน้ำผึ้ง
จะทำปฏิกิริยากับโลหะหรือพลาสติค
ความร้อนจะทำให้น้ำผึ้งไหลละลายออกมาอีกส่วนหนึ่ง
เรียกว่ารีดกันจดหยดสุดท้ายทีเดียว
น้ำผึ้งจะค่อย ๆ หยดลงมาใส่หม้อหรือภาชนะที่บรรจุน้ำผึ้ง

จากนั้นจะนำน้ำผึ้งรอบสองนี้
ไปผสมกับน้ำผึ้งรอบแรก
หรือนำไปใช้เลยในส่วนนี้
หรือขายเป็นน้ำผึ้งต่อไป
สมัยก่อนลุงลัภย์ขายให้พนักงานธนาคารชาติขวดละสองร้อยบาท
(ขนาดขวดแม่โขงกลมใหญ่ประมาณ 630 CC.)
เรียกว่ามีการจองกันล่วงหน้าคิวยาวเหยียดเลยทีเดียว
ส่วนใหญ่สาว ๆ จะนำไปพอกหน้าเป็นเครื่องสำอาง
มีบางส่วนที่ซื้อไปกินเป็นอาหารหรือยา

สำหรับอุตสาหกรรมผลิตน้ำผึ้ง
ที่เคยไปเที่ยวที่อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
(บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์)
คุยกับเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งรายหนึ่ง
จะบอกว่าเมื่อตัดรวบรวมรวงผึ้งจากเพื่อนสมาชิกได้มากแล้ว
บางครั้งจะมีการนำรังผึ้งจากแถวเชียงใหม่หรือภาคเหนือ
มาฝากเลี้ยงที่ภาคใต้ช่วงฤดูต้นยางพาราออกดอกผลิใบ
ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้งมากของทางภาคเหนือ
แล้วจะนำรวงผึ้งของภาคเหนือมาผสมกับรวงผึ้งของภาคใต้

นำเข้าเครื่องปั่นน้ำยางพาราแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง
จะได้แต่น้ำผึ้งที่เข้มข้นมากกว่าแบบชาวบ้านทำ
ส่วนขี้ผึ้งและสิ่งสกปรก
จะถ่ายเททิ้งได้ง่ายกว่าการบีบหรือทำด้วยมือ
และทำให้ได้น้ำผึ้งรวดเร็วกว่าการใช้มือคนทำ
หรือการบีบน้ำผึ้งแล้วรอพระอาทิตย์ช่วยเผาผลาญไล่น้ำผึ้งอีกรอบ

เครื่อง Centrifuges หรือเครื่องปั่นแยกน้ำนมออกจากน้ำ



ภาพประกอบจากอินเตอร์แนท


อุตสาหกรรมอาหารเมืองนอกนิยมมาก
ในการปั่นน้ำผึ้ง ปั่นน้ำนม เพื่อทำเนย หรือน้ำผลไม้
แต่ที่บ้านเราโรงงานยางพารานิยมนำมาใช้
ปั่นน้ำยางพาราแบบน้ำยางสด
ให้เหลือแต่น้ำยางเข้มข้น
ใส่ถังบรรจุขายต่างประเทศต่อไป

ภาพประกอบจากอินเตอร์แนท
ปัจจุบันมีเหลายแบบทั้งของแท้ดั้งเดิมจากสวีเดน สหรัฐ
กับของไทยทำ ของก๊อปปี้จากจีนแดง มากมาย



เกษตรกรรายนี้บอกว่า 
แต่ละปีจะมีการทำข้อตกลงกับผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทย
ในการส่งมอบน้ำผึ้งให้ปีละจำนวนกี่ตัน
ทำให้ต้องมีการกระจายเกษตรกรจำนวนมากในการเลี้ยงผึ้ง
พร้อมกับพื้นที่ในการเลี้ยงผึ้งจำนวนมากเช่นกัน
ก่อนจะมารวบรวมผลผลิตส่งให้กับผู้ผลิตรายใหญ่
ผลดี คือ จะทำให้มีตลาดสินค้าเกษตรที่แน่นอน
และราคาต่อหน่วยค่อนข้างแน่นอน

แม้ว่าอาจจะเสียเปรียบในเรื่องราคาต่อลิตร
ในการขายให้กับพ่อค้าคนกลางเพียงรายเดียวหรือสองราย
แต่สำหรับชาวบ้าน/เกษตรกรเลี้ยงผึ้ง
กลับมีแนวคิดในทางกลับกันว่า
ดีกว่าไปรอขายทีละขวดสองขวดหรือไปฝากขาย
ให้กับชาวบ้านร้านตลาดหรือพ่อค้าคนกลาง
กว่าจะได้เงินแต่ละครั้งก็เสียเวลามากเช่นกัน
เผลอ ๆ ไม่คุ้มค่าคุ้มเวลาในการเดินทางไปค้าขาย
สู้นำเวลาที่จะต้องเสียไปกับการนี้
มาทำงานเลี้ยงผึ้งหรือทำงานอื่นที่หารายได้ดีกว่า
หรือแบบที่เรียกว่า  โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี
เรียกว่า ได้อย่าง ก็เสียอย่าง

เพลงประกอบ ได้อย่าง เสียอย่าง
ไว้ฟังเล่น ๆ ประกอบการอ่าน




ขี้ผึ้งจากผึ้งเลี้ยงที่ได้จากบ้านช้างกลาง
ถามลุงลัภย์ว่านำมาทำยาเสน่ห์นางพญาผึ้งได้หรือไม่
แกตอบว่าไม่สามารถนำมาใช้ทำเสน่ห์นางพญาผึ้งได้
ในการเรียกหรือเชิญชวนให้ผึ้งป่ามาทำรังได้ได้
เพราะสอบถามลุงลัภย์แล้วแกบอกว่าผิดกลิ่น
เพราะผึ้งเลี้ยงจะมีกลิ่นตัว/กลิ่นสาปอีกแบบหนึ่ง

ส่วนมากแล้วผึ้งเลี้ยง
ไม่ค่อยดุเหมือนผึ้งป่าหรือผึ้งตามธรรมชาติ
น่าจะมาจากพันธุกรรม
และการเลี้ยงดูที่ใกล้ชิดกับคนมายาวนาน

(จริง ๆ แล้วอยากจะขอออกนอกเรื่องไปจากการเลี้ยงผึ้ง
อาจจะยาวสักหน่อยไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง
แต่เป็นเรื่องที่รวบรวมมาจากประสบการณ์
และการบอกเล่าข่าวคราวจากเพื่อน ๆ หลายวงการ
ร่างไปเขียนไปเห็นว่ายาวมาก
นึกได้ว่าเดี๋ยวเรื่องราวจะไม่ต่อเนื่อง
ขอเขียนเป็นความเรียงอีกเรื่องชื่อ มุมมืดของบรรดามนุษย์เงินเดือน)

เรื่องผึ้งเลี้ยงมีนิสัยไม่ค่อยดุร้าย
นี้น่าจะจริงเป็นอย่างยิ่ง
เพราะตอนพาครอบครัวไปเยี่ยมเจ้
เจ้าของร้านค้าวัสดุรายใหญ่ที่จันดี
ที่คนรู้จักกันทั้งอำเภอทีเดียว

คำว่าเจ้ ในภาษาชาวบ้านทั่วไป
ไม่ได้หมายความถึงพี่สาวแบบคนจีนเรียกกัน
แต่หมายความว่า มีอำนาจบารมี
หรือมีเกียรติยศศักดิ์ศรีทัดเทียมผู้ชาย
ในการทำมาหากินหรือปกครองลูกน้องได้
หรือมีปากคำไหวพริบพอตัว

ยังจำได้ไปเยี่ยมวัดแห่งหนึ่งพร้อมเจ้
มรรคทายกขอเรี่ยไรเงิน
ให้ช่วยสร้างบันไดกับสะพานให้กับ
เจ้ แกตอบหน้าตาเฉยว่า
ไม่เอาเดี๋ยวเขาเหยียบย่ำกู
ทำให้ทำมาค้าไม่ขึ้นไม่เจริญ

จริง ๆ พอถามลับหลังมรรคทายก
ตอนนั่งรถยนต์ออกจากวัดพร้อมครอบครัวแล้ว
แกตอบว่าไม่จริงหรอก
ตอบไปอย่างนั้นแหละ
เดี๋ยวจะมาทำบุญภายหลัง
แต่ถ้ารับปากแล้ว เผลอ ๆ จะบานปลาย
หลายอย่างเช่น ค่าซีเมนต์ ค่ากระเบื้อง ค่าเหล็ก ค่าทราย
ไม่จบไม่สิ้นง่าย ๆ เพราะเผลอ ๆ 
มรรคทายกจะคิดว่า  
ลงบิลไว้ก่อนค่อยเบิกกับเจ้ได้
เพราะรับปากว่าจะร่วมทำบุญแล้ว
สู้ให้เป็นเงินก้อนเลยแล้วให้ทางวัดไปบริหารจัดการ
หรือไปซื้อจากร้านค้าวัสดุอื่นจะดีกว่า

ผลจากการที่ให้เจ้คนในพื้นที่
ให้พาไปเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงผึ้งแห่งหนึ่งในอำเภอ
ทำให้สะดวกในการเดินทางเยี่ยมชม
เพราะเป็นคนดังเป็นที่รู้จักกันในพื้นที่และชำนาญเส้นทาง
เมื่อเข้าเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงผึ้งแห่งหนึ่ง

เกษตรกรผู้ชายที่เลี้ยงผึ้ง
จะถือกะปุกรมควันฉีดใส่รังเลี้ยงผึ้ง



อีกภาพ


แล้วนำรวงผึ้งที่เป็นแผ่น ๆ มาให้ดูพร้อมกันหกคน
ชี้ให้ดูนางพญาผึ้งตัวอ้วนอุ้ยอ้าย
มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าผึ้งในรังนี้อย่างเห็นได้ชัด
เห็นเดินชุ่นไปหมด(เดินวนเวียนไปทั่วรัง)
รอบ ๆ แผ่นรังผึ้งที่ต้องเป็นหกเหลี่ยมสมมาตร

ถ้ารังไหนไม่เป็นหกเหลี่ยมสมมาตร
หรือรังที่ตัวอ่อนผึ้งโตเต็มวัยออกมาแล้ว
แต่ยังไม่ทำความสะอาดให้เรียบร้อย
นางพญาผึ้งจะไม่ยอมวางไข่
พวกผึ้งงานต้องรีบแต่งรังให้ได้สมมาตรเลยทันที
หรือทำความสะอาดรังตัวอ่อนเดิมให้สะอาดทันที

เมื่อครบองค์ประกอบคือ รังสมมาตรและสะอาด
จะเห็นนางพญาผึ้งวางไข่ลงไปในหลุมรังผึ้ง
เสร็จไม่นานก็จะมีพวกผึ้งอนุบาลปิดฝาบนเลย
ยืนมุงดูกันทั้งหกคน มีผึ้งบินว่อนรอบตัว
แต่ไม่มีใครสักคนถูกต่อยด้วยผึ้งเลย
เรียกว่าอาการวันนั้น ครอบครัวผมกับเจ้
ต่างคนต่างกลัวต่างปอดแหกเหมือนกันว่า
จะถูกผึ้งต่อยเหมือนกับคำเล่าลือหรือไม่

ลุงลัภย์เล่าว่า ผึ้งรังไหนยิ่งดุ น้ำผึ้งยิ่งมาก
เพราะขยันขันแข็งหาน้ำผึ้งเก่งมาก
จะนำมาตุนหรือสำรองไว้ในรังมาก
ทำให้ขยายพันธุ์หรือปริมาณผึ้งได้มาก
แต่รังไหนไม่ค่อยดุ จะมีน้ำผึ้งน้อย
รวมทั้งตัวอ่อนจำนวนน้อยมากเช่นกัน
การตัดรวงผึ้งเพื่อเอาน้ำหวานมาใช้แต่ละครั้ง
จะทำให้ผึ้งงานต้องรีบขวนขวายออกไปหาน้ำผึ้ง
กลับมาเติมในรังผึ้งให้มากเท่าเดิม
สงสารก็สงสารผึ้งงานเช่นกัน
แต่ถ้าไม่ตัดรวงน้ำผึ้งเลยก็ไม่ได้น้ำผึ้งเช่นกัน

ขี้ผึ้งที่ทำด้วยมือที่จบลงขั้นตอนสุดท้าย
คือ ให้แสงแดดแผดเผาจนหมดน้ำผึ้งไหลย้อยหมดสิ้นแล้ว
จะนำก้อนขึ้ผึ้งนี้ไปใส่ในขันโลหะหรือหม้ออลูมีเนียมขนาดเล็ก
วางลงบนน้ำร้อนในกระทะใบใหญ่หรือหม้ออลูมีเนียมใบใหญ่
ค่อย ๆ เคี่ยวไปเรื่อย ๆ
จะได้น้ำหวานปริมาณเล็กน้อยออกมาอีกรอบหนึ่ง
เอาไว้ดื่มหรือผสมกับน้ำชากาแฟได้ถ้าเคี่ยวไปเรื่อย ๆ
ส่วนขี้ผึ้งที่ละลายจะเกาะตัวเป็นแผ่น ๆ 
ส่วนเศษสิ่งที่สกปรกที่หนัก ๆ จะจมลงไปล่าง
บางส่วนก็ต้องใช้ช้อนตักออกมาทิ้งข้างนอกไป
บางส่วนก็สามารถช้อนตักขึ้นมากินได้เช่นกัน

ขี้ผึ้งที่ได้จากการนี้จะนำไปใช้ได้แพงสุดคือ
การทำแผ่นเสน่ห์นางพญาผึ้ง
แผ่นกลม ๆ ขนาดประมาณตลับยาหม่องตลับกลาง
ขายกันแผ่นละไม่น้อยกว่ายี่สิบบาท(สมัยก่อน)





ส่วนรองลงมาคือ ขี้ผึ้งไปใช้ทำเทียนไข
หรือใช้ทาถูประตูวงกบหรือลิ้นชักไม้ที่ฝืด
จะทำให้ลื่นไหลดีกว่าปกติมาก
หรือซิบกระเป๋า เสื้อผ้า กางเกง เป็นต้น
รองลงมาคือการเคลือบห่อหุ้มยาเม็ดยากลอนแผนโบราณ
ที่จะต้องบีบขี้ผึ้งออกมาก่อนจึงจะเห็นเม็ดยาข้างใน
เพราะขี้ผึ้งมีส่วนในการกันความชื่นและรักษาคุณภาพยา
รวมทั้งป้องกันมดแมลงและเชื้อราได้ดีระดับหนึ่ง

ภาพกล่องเลี้ยงผึ้งของลุงลัภย์  หนูประดิษฐ์
แกเริ่มลงมือทำใหม่เพื่อเลี้ยงผึ้งอีกครั้ง
หลังจากเลิกเลี้ยงไปหลายปีแล้ว
เพราะข้างบ้านแกมีผึ้งมาทำรังอยู่
ตอนถ่ายทำยังไม่มีผึ้งมาทำรัง











เมื่อได้ก้อนเสน่ห์นางพญาผึ้งแล้ว
จะนำก้อนเสน่ห์นางพญาผึ้งก้อนนี้
มาทาถูทาถูบนฝากล่องไม้ให้เป็นรูปวงกลม
จนขึ้ผึ้งลื่นไหลจนทาไม่เข้าอีกแล้ว
จะใช้ไฟค่อย ๆ รนให้ขี้ผึ้งซึมเข้าไปในเนื้อไม้
แล้วจัดการทาถูทาถูไปอีกรอบหนึ่ง
ทำซ้ำ ๆ กันหลายรอบจนกว่าก้อนเสน่ห์ก้อนนี้จะหมด

จากนั้นทำการปิดฝากล่องนี้ซึ่งจะอยู่ด้านบนสุด
ที่บ้านคลองหวะ หลังจากได้ก่อนเสน่ห์นางพญาผึ้ง
มาทำวิธีการดังกล่าวกับกล่องเลี้ยงผึ้ง
ระยะเวลาไม่เกินสามวันรังแรกที่ผึ้งมา
เจ้าแรกที่ผึ้งมาทำรังคือของ นายสำราญ และถัด ๆ มาของผู้ใหญ่บ้าน
ไม่เกินกว่าหนึ่งสัปดาห์ของทุกคนที่ไปเรียนและทำรังเลี้ยงผึ้ง
จะมีผึ้งมาสร้างรังใหม่ทุกคนเลยทีเดียว
ช่วงแรก ๆ ก็เลี้ยงกันในหมู่บ้านคึกคักกันดี
แต่พอนาน ๆ เข้า ต้นมะพร้าวเริ่มลดน้อยถอยลง
ระบบนิเวศน์ธรรมชาติในหาดใหญ่เสื่อมโทรมลง
เพราะบ้านจัดสรรกับเมืองรุกไล่ป่าไม้และธรรมชาติ
น้ำหวานกับเกสรดอกไม้ธรรมชาติเริ่มลดน้อยหายไป
ต้องหาน้ำตาลหรือกล้วยมาเลี้ยงผึ้งแทน
กอปรกับภาระกิจการงานมากขึ้นกว่าเดิม
คนเลี้ยงผึ้งในหมู่บ้านคลองหวะต่างเลิกราไปในที่สุด

ในกล่องเลี้ยงผึ้งที่มีกลิ่นเสน่ห์นางพญาผึ้ง
เมื่อบรรดาผึ้งงานมา survey พบกับกล่องนี้
จะได้กลิ่นอายของผึ้งอยู่ในกล่อง
เมื่อบินเข้ามาสำรวจไม่พบว่ามีผึ้งเดิมอยู่
และสภาพเหมาะสมกับการทำรังผึ้งใหม่
ทำให้มีส่วนเข้าใจผิดว่า
ผึ้งชุดเดิมย้ายรังหนีไปหากินที่ใหม่แล้ว
ฝูงผึ้ง surveyor จะรีบบินกลับไปรังเดิม
เพื่อจะไปบอกกับบรรดาพรรคพวกมิตรสหาย
และนางพญาผึ้งที่บินไม่ได้แล้ว
เพราะไร้ปีกกับอ้วนอุ้ยอ้ายมาก
เตรียมการย้ายรังมาสร้างรังใหม่

อย่างที่เล่าไว้ในปฐมบท
ถ้ารังผึ้งเิดิมมีการเตรียมนางพญาผึ้งตัวใหม่ไว้เรียบร้อยแล้ว
เมื่อนางพญาผึ้งตัวใหม่มีบริวารและผึ้งงานพอสมควรแล้ว
นางพญาผึ้งตัวเดิมก็จะสละรังให้เลย
เมื่อแสวงหารังใหม่ได้เรียบร้อยแล้ว
หรือบางครั้งปริมาณผึ้งในรังเดิมมีจำนวนมาก
จนเกิดการกระทบกระทั่งภายใน
หรือเริ่มลำบากในการทำมาหากิน
จะมีการบินไปขยายรังใหม่และอาณาเขตใหม่ทันที

เมื่อได้ฤกษ์พานาทีและเวลาที่เหมาะสมแล้ว
ไม่แน่ใจว่าผึ้งจะเล่นของ
หรือเชื่อถือโชคลางคาถาอาคม
เหมือนกันคนทั่ว ๆ ไปหรือไม่
เพราะประโยชน์ย่อมล่วงเลยเสียเปล่า
เพราะมัวแต่รอฤกษ์ยามอยู่ (พุทธภาษิต)

กลุ่มก้อนผึ้งที่ย้ายรังไปหาที่สร้างรังใหม่
จะมีลักษณะก้อนกลม ๆ ขนาดใหญ่
มีฝูงผึ้งบินล้อมตรงกลางและบินนำไป
เพราะห้อมล้อมและพยุงตัวนางพญาผึ้งไว้
จะบินกรูออกไปหาที่สร้างรังใหม่

ถ้าเป็นรัง/กล่องรังผึ้งที่สร้างไว้จะดีมาก
แต่ถ้าไม่มีสถานที่เหมาะสม
ผึ้งต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่สร้างรังใหม่
เมื่อผึ้งหาสถานที่เหมาะสมในการสร้างรังใหม่ได้
และนางพญาผึ้งตกลงโอเค
ที่จะใช้สถานที่ในการสร้างรังใหม่แล้ว
จะเริ่มสร้างรังขึ้นมาใหม่
เรียกว่าไม่ต้องสั่งการเหมือนคน
หรือแบ่งแยกหน้าที่การทำงาน
หรือต้องมีหัวหน้าบริหารจัดการงานแบบคน
หรือแบบระบบราชการแบบบ้านเราว่า

โดยคำสั่งฉบับนี้ให้ผึ้งงานทั้งหลาย
เจ้าจงจัดการสร้างรังผึ้งขึ้นมาทันที
ส่วนผึ้งงานที่หาน้ำผึ้งเจ้าจงจัดการไปหาน้ำผึ้งทันที
ส่วนผึ้ง รปภ. รักษาความปลอดภัย
เจ้าจงจัดการไปเฝ้าตรงรูทางเข้าออกทันที

ปกติจะมีผึ้งเป็นนายทวารบาลอยู่สองตัว
ถ้าผิดสีผิดกลิ่นบินเข้ามา
จะถูกสองตัวนี้ไล่กัดไล่ต่อยจนต้องหนีหายไป
หรือเรียกกันว่าเอาให้ตายไปข้างหนึ่งเลย
แต่ถ้าไม่สำเร็จจะเรียกให้นำฝูงผึ้งงานชุดใหญ่มาช่วยอีกรอบหนึ่ง
เช่น มีศัดรูบุก ตัวใหญ่มาก หรือฝูงมด หรือฝูงผึ้งอีกชุดหนึ่ง เป็นต้น
ในกรณีสู้ไม่ได้หรือไม่ไหวแล้ว

ผึ้งงานจะฉีดกลิ่นหนึ่งออกมา
คือ กลิ่นเหมือนกันน้ำนมแมว
หรือกลิ่นเหมือนกับหญ้านมแมว
ผึ้งทุกตัวจะรีบจัดการดูดน้ำหวานที่หามาได้ให้มากที่สุด
ขณะที่อีกหลายตัวจะรีบห้อมล้อมนางพญาผึ้งไว้
แล้วบินกรูหนีออกไปหาที่สร้างรังใหม่ทันที
ที่เหลือทิ้งไว้คือรังผึ้งร้างมีน้ำหวานน้อยมาก
กับตัวอ่อนผึ้งบางส่วนที่เอาไปไม่ได้แล้ว

ดังนั้น คำโบราณที่บอกว่าอย่าทำให้ผึ้งตกใจ
จะถูกผึ้งรุมต่อยใส่หรือไม่ได้น้ำหวาน
จึงเป็นเรื่องจริงตามนี้
การใช้กาบมะพร้าวจุดไฟรมควัน
หรือใช้การมควันรมไปที่รังผึ้ง
จะทำให้ผึ้งมืนงงไม่ตกใจ
มีอาการสลึมเสลอเหมือนคนเมายา

ทำให้สามารถจัดการตัดน้ำผึ้งได้ตามต้องการ
เมื่อตัดช่วงรังที่ให้น้ำผึ้งเสร็จแล้ว
ส่วนที่เป็นรังตัวอ่อนของผึ้ง
ถ้าเป็นผึ้งเลี้ยงจะนำใส่รัง/กล่องเลี้ยงผึ้งแบบเดิม

ส่วนผึ้งป่าคนตัดรังผึ้งที่มีประสบการณ์และมีคุณธรรม
จะตัดเฉพาะส่วนรังของน้ำผึ้ง
เหลือตัวอ่อนไว้ให้ทำรัง
เพื่อปีต่อ ๆ ไป จะได้มีน้ำผึ่งอีกต่อไป

แต่ถ้าพวกโหด ๆ หรือชั่วร้าย
ทำลายแบบล้างผลาญ
หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
จะตัดลงมาทั้งรวงเลยไม่เก็บไว้บางส่วน
เพราะจิตใจชั่วร้าย
หรือรำคาญหรือเจ็บใจที่ผึ้งต่อยเอา

ทำให้ผึ้งป่าจำนวนมากแทบสูญพันธุ์ไป
เพราะการทำลายล้างแบบนี้
บวกกับการที่มีระบบนิเวศน์ป่าไม้ถูกทำลาย
เกสรดอกไม้นานาพันธุ์มีจำนวนน้อยลงด้วยส่วนหนึ่ง

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ ร่วมกับลุงลัภย์
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมืองฝูงผึ้งในป่าใหญ่