วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-วงในยางพารา

ปัญหาเรื่องยางพาราราคาตกต่ำมาก
พอ ๆ กับยุคสมัยก่อนที่ราคาหุ้นต่ำมาก
ขนาดถูกกว่าลูกอม Halls 3 เม็ดบาท
หรือถือหุ้นสามบริษัทราคาไม่ถึงบาทหนึ่งเป็นต้น
หรือตอนนี้ราคายางพารา 3 โลร้อย
ยางพารา 3 กิโลกรัม 100 บาท
บางวันราคาลดลงถึงกิโลกรัมละ 5 บาท
แต่เดิมวันหนึ่งลดลงอย่างมากไม่เกิน 0.25-0.50 บาท

จากการนั่งคุยกับปราขญ์ชาวบ้านคลองหวะ(ลุงลัพธ์ หนูประดิษฐ์)
ได้สรุปบทเรียนอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นวิชาการว่า
แต่เดิมนานมากแล้ว  ทางพรรคคนใต้ได้มีนโยบายหลักคือ
ให้โอนกิจกรรมของ สกย. สำนักงานส่งเสริมการยาง
ให้แต่ละตำบลมีโรงรมควันยางพาราของชุมชน
แล้วให้ชาวบ้านทำยางแผ่นไปรมควัน
รอจังหวะขายเมื่อราคายางสูงขึ้น
กับทำให้ปริมาณยางพาราที่จะออกสู่ท้องตลาด
ไม่ประดังออกมาพร้อมกันจำนวนมาก
แต่ปัญหาที่พบตอนนี้ก็คือ  ชาวบ้านขายน้ำยางสด

น้ำยางสดกรีดเสร็จรอขายประมาณ 8 โมงเช้าก็ได้รับเงินสดแล้ว
แต่ยางแผ่นรมควันต้องทำการรีดยาง  ทำดอกยางแผ่น
ประมาณก่อนเที่ยงวันจึงจะเสร็จ
เก็บไว้ ตากแดด ผึ่งแดดในบ้าน/ชายคา
กว่าจะได้ขายก็รออีกประมาณ 10 วันไม่ทันใจ
ทำให้ตอนนี้ปริมาณน้ำยางสดออกมาสู่ตลาดมาก
หลักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้านที่รู้และเข้าใจกันคือ  
ของมากราคาถูก  ของน้อยราคาแพง

การซื้อขายน้ำยางสดก็มีกลเม็ดเด็ดพรายของชาวบ้าน
โดยการปลอมปนน้ำลงในน้ำยางสด
ตัวอย่างเช่น  น้ำหนัก  % ยางพาราทั่วไปที่ 35%
ใส่น้ำลงไปประมาณ 10 ลิตรก็จะได้เงินเพิ่มขึ้น
แม้ว่าจะทำให้ % ยางพาราลดลงเหลือ 30%
คำนวณง่าย ๆ   30*60=18.0 กิโลกรัม * 50.-บาท จะได้  900.-บาท
แต่ถ้าไม่ปนน้ำยางได้  35*50=17.5 กิโลกรัม * 50.-บาท จะได้  875.-บาท
จะเห็นว่ามีส่วนต่างเพิ่มขึ้นประมาณ 25.-บาท
ทำให้ชาวบ้านบางคนปลอมปนน้ำลงไป

แต่ผู้ขายก็มีวิธีการแก้ลำในการนี้
คือตัววัด % น้ำยางเมโทรแล็ค
ถ้าถูกความร้อนจะวัด % น้ำยางพาราเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าถูกความเย็นจะวัด % น้ำยางพาราลดลง
ดังนั้นมักจะแช่ในตู้เย็นก่อนออกมาวัด % น้ำยางพารา
หรือใช้น้ำเย็นผสม/ล้างตัววัดเมโทรแล็ค
ทำให้ตอนวัด % น้ำยางลดลงไปอีก

ขณะเดียวกันชาวบ้านที่นกรู้บางคน
ก็จะเอาน้ำร้อนใส่ลงในถังน้ำยางที่ผสมน้ำ
คนรับซื้อยางพาราที่เขึ้ยวกว่าก็จะจับถังดู
ถ้าถังน้ำยางสดยังอุ่น ๆ อยู่ก็บอกรอเดี๋ยวต๊ะ
รับซื้อของคนอื่นก่อนเพราะเขารีบ
พอถังน้ำยางสดเย็นลงค่อยมารับซื้อน้ำยางสด
เพราะตอนนั้นวัดแล้ว % น้ำยางลดลงแล้ว

บางครั้งคนขายน้ำยางพาราให้กับผู้รับซื้อ
หรือลูกจ้างโรงงานรับซื้อน้ำยางพารา
จะแอบตักน้ำยางเจ้าที่มี % น้ำยางพาราสูง
ใส่ลงในกระบอกวัด % น้ำยาง
ทำให้ได้ราคาน้ำยางสูงขึ้นเช่นกัน
รองลงมาแม้ว่าจะมีการทดลองทำเป็นยางแผ่นทดสอบ
ก็ใช้วิธีการแบบเดียวกันโดยการลอบใส่น้ำยางเจ้าอื่น
ที่มี % น้ำยางสูงให้แทน
เรื่องแบบนี้เรียกว่าเอากันตอนทีเผลอ
หรือบางทีเป็นการสมคบคิดกันระหว่างสองคน
เพราะลูกจ้างก็คือลูกจ้างไม่ใช่เจ้าของ
ทำนองเดียวกับคนเลี้ยงช้างมักจะกินอ้อยช้างบ้าง

การผสมน้าลงในน้ำยางพารา
จะทำได้กับยางพาราที่มีอายุมากแล้ว
ส่วนต้นยางพาราที่เพิ่งกรีดใหม่ ๆ ช่วง 6-7 ปีแรก
หรือยังวัยละอ่อนอยู่ % น้ำยางพารา
ยังไม่สามารถดีดขึ้นเกินกว่า 30 แต่อย่างใด
จะมี % น้ำยางประมาณ 25-26%
แล้วค่อย ๆ เขยิบเหมือนนักฟุตบอลเลื่อนชั้น
เลื่อนเกรดไปเตะดิวิชั่น/พรีเมียลีคที่สูงขึ้น

บางรายผสมน้ำลงในน้ำยางพารา
คนน้ำยางไม่ดีหรือกระบวนการผลิตแบบฉ้อ(โกง)ไม่ดี
จะเกิดฝ้ายางเป็นก้อน ๆ เล็ก ๆ
คนรับซื้อก็จะด่าว่า " เห้ ยังปลาหมอกัน "
มีปลาหมอในถังน้ำยางเหรอฟะ
ก็จะถูกหักราคารับซื้อไปตามระเบียบ

กติกาของคนรับซื้อน้ำยางพารา
มักจะกำหนดว่ารับซื้อเพียง 8 วัน
อีก 2 วันให้ต้นยางได้พักผ่อนบ้าง
จะทำให้ต้นยางไม่โทรมและมี % น้ำยางสูง
แต่เอาเข้าจริง 2 วันที่เหลือนั้น
ชาวสวนยางจะนำไปขายเจ้าอื่นก่อน
เช่นขายประจำที่คลองหวะ ก็ไปขายที่รัตภูมิ
ขายเพียง 2 วันแล้วค่อยมาขายเจ้าเดิมอีก
เป็นวัฏจักรวงจรเช่นนี้

ปัญหาเรื่องยางพาราที่สั่งสมมานานคือ
ยางพาราในปัจจุบันสายเลือดชิดเกินไป
สมัยก่อนพันธุ์ยางพื้นเมือง
จะให้ผลผลิต 100 ต้น 1 กิโลกรัม
แต่ยางพันธุ์ให้ผลผลิต 100 ต้น 3 กิโลกรัม
แน่นอน Supply ยิ่งมากราคายิ่งถูก
สมัยก่อนกรีดยางพาราได้น้อย
และยางพื้นเมือง % น้ำยางสูงกว่ามาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ
ตอนนี้การติดตา/เสียบยอดยางพารา
ใช้เมล็ดพันธุ์ 600 แล้วติดตา/เสียบยอด 600 หรือ 235
ทำให้มีผลแบบเป็ดแบบไก่คือสายเลือดชิดเกินไป
เพราะแต่ก่อนยังหาเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง
เพาะเป็นต้นอ่อนก่อนติดตา/เสียบยอดได้

ปัญหาในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ยางพาราราคาสูง
ทำให้ชาวบ้าน/คนกรีดยางบางคนโลภ
ด้วยการอัดปุ๋ย ฉีดฮอร์โมน หรือใส่ยา
เพื่อเร่งปริมาณน้ำยางพาราออกมาให้มากที่สุด
แล้วพยายามกรีดยางพาราทุกวัน
เท่าที่จะกรีดได้แม้ว่าต้นยางควรจะพักบ้าง
เพื่อไม่ให้หน้ายางพาราเสียหาย/ต้นยางโทรม
แต่ผลสุดท้ายแล้วต้นยางโทรมอยู่ดี
หรือหน้ายางพาราตายกรีดไม่ได้อีก
คนที่เสียหายหนักคือเจ้าของสวนยางพารา
ส่วนคนกรีดยางพาราก็เหมือนคาวบอยพเนจร
ที่ไหนมีเงินรางวัลหรือล่าเงินรางวัลได้ก็ไป
ปล่อยให้เจ้าของสวนยางพารานั่งซังกะตายไป

แม้ว่าการปลูกยางพาราจะมีโบนัสก้อนใหญ่
คือ การขายไม้ยางพาราให้กับโรงงานผลิตไม้ยางพารา
แต่ราคาก็ลงมากแล้วในช่วง 2-3 ปีนี้
ราคายางท่อนที่ไปแปรรูปได้ช่วงนี้ตกกิโลกรัมละ 1.80 บาท
ถ้าเป็นไม้ฟืนราคาจะต่ำกว่า 1.00 บาท
แต่การขายเป็นไม้แปรรูปได้นั้น
จะต้องมีการพิจารณาจากความสูง/อ้วนของต้นยางพารา
และไส้ในไม่ดำ คือ ถ้ามีการฉีดยาเร่งน้ำยางพารา
จะทำให้แกนในมีรอยสีดำแปรรูปแล้วไม่สวย
เพราะไม้ยางพาราต่างประเทศเรียกว่า ไม้สักขาว
ถ้าอบน้ำยา/กระบวนการผลิตดี ๆ จะอยู่ได้ถึง 20 ปี
ก่อนที่น้ำยาจะหมดสภาพแล้วเป็นอาหารมอด/ปลวก

ในการรับซื้อไม้ยางพาราต้องดูประวัติศาสตร์อดีตด้วย
ถ้าเคยเป็นเขตฐานที่มั่นหรือเคยมีการปะทะ
กับโจรจีนมาลายาหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
บางแห่งจะไม่รับซื้อเข้าโรงงานเลย
แต่จะรับซื้อแบบไม้ฟืนไปเลย
เพราะตอนเลื่อยเกิดเจอลูกกระสุนปืนฝังในต้นไม้
ปลิวใส่แรงพอ ๆ กับลูกปืนยิงใส่ไม่ตายก็เจ็บ
แต่ที่เจ็บยิ่งกว่าคือ ใบเลื่อยที่เสียหาย
ใบหนึ่งไม่ใช่ราคาถูก ๆ และการติดตั้งก็ไม่ใช่ง่ายด้วย

หลังจากตกลงรับซื้อไมัยางพารากันแล้ว
จะต้องมีการสำรวจ/นับต้นกัน
ไร่หนึ่งจะปลูกต้นยางพาราได้ 70 ต้น
จะนับจำนวนต้นก่อนและรวมจำนวนคิดเป็นไร่
ราคาซื้อขายจะคิดกันเป็นไร่
ช่วงราคาดี ๆ เคยมีคนขายได้ไร่ละ 2 แสนบาท
แต่ต้องติดกับถนนใหญ่และชักลากได้ง่าย
ราคาไม้ยางพาราจะขายได้แพงในช่วงตุลาคม-มกราคม
เพราะเป็นช่วงหน้าฝนของภาคใต้
ความต้องการไม้ยางพาราของโรงงานมาก
ส่วนหน้าร้อนการชักลากง่ายราคาจึงถูกลง

แต่ตอนนี้ตกอยู่ที่ราคาประมาณไร่ละ 6 หมื่นบาท
เรื่องการซื้อขายไม้ยางพาราในสมัยก่อน
จะมีลูกเล่นคือ ซื้อขายราคาสูงแล้วค่อยมาหักค่าดันค่าไถ
สมัยก่อนไร่ละ  5 พันบาทตอนนี้ประมาณ 2 หมื่นบาท
การซื้อขายไม้ยางพาราจึงต้องตกลงให้ชัดเจน
ว่าขายสุทธิ  อย่ามาหักค่าดันค่าไถต้นยางพาราอีก

สมัยก่อนต้นตอกับรากยางพาราไม่มีราคาเลย
ต้องดันกอง ๆ ไว้แล้วเผาทิ้งในช่วงฤดูแล้ง
แต่ตอนนี้มีราคาเพราะโรงงานรับซื้อนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้
เรียกว่าขุด/ดึงขึ้นมาเท่าที่จะทำได้มากเท่าไรมีกำไรแฝงมากเท่านั้น
เป็นแรงจูงใจให้คนรับซื้อขยันดัน/ขุดต้นยางพาราขึ้นมามากขึ้น

ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ
ถ้ามีการล้มพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น
จำนวนปริมาณน้ำยางที่จะออกสู่ท้องตลาดลดลง
ก็จะทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นมาก
ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตยางพารารายใหญ่
ตอนนี้ประเทศไทยมีจังหวัดที่ยังไม่มีการปลูกยางพาราเพียง 8 จังหวัดเท่านั้น
แสดงว่าอีกไม่นานปริมาณยางพาราจะออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก

คำถามว่าถ้าตอนนี้กลับไปทำยางแผ่นเพื่อรมควันได้หรือไม่
คำตอบของลุงลัพธ์ คือ  เครื่องจักรรีดยางขายช้าดแล้ว
ขายไปหมดแล้วไม่เหลืออีกเลย
ถ้าจะซื้อกลับมาทำใหม่ก็ต้องลงทุน
รองลงมาก็คือ หาคนทำยางแผ่นยากแล้ว
เพราะขายน้ำยางสดได้เงินเร็วกว่า

ปัญหานี้กระทบกับโรงงานรมควันยางพาราชุมชนในบางพื้นที่
เพราะชาวบ้านหันมาขายน้ำยางสดแทน
ทำให้ปริมาณยางแผ่นขาดหายไปมาก
จนหลายโรงงานกลายเป็นโรงงานร้าง
ทิ้งให้วัวให้ควายหรือแมงมุมค้างคาวอาศัยแทน
การรื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่ก็เรื่องแรงงาน
กับเรื่องเงินทุนที่รับซื้อยางพาราแผ่น
แม้ว่าจะมีการปรึกษากันว่า
ให้นำเงินบางส่วนตั้งเป็นกองทุนหรือถือหุ้น
เช่นขายยางแผ่น 100 กิโลกรัมหักซัก 10 กิโลกรัม
ตั้งเป็นกองทุนหรือถือหุ้นเพื่อให้มีเงินหมุนเวียน
แต่ก็ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากชาวบ้าน
เพราะอยากได้เงินเร็วและกลัวปัญหาอื่น ๆ
กอปรกับราคายางผันผวนมาก  ขึ้นเร็ว ลงเร็ว
สมัยก่อนราคายางพารามี 4 ราคาในแต่ละวัน
เรียกว่าเข้าผิดจังหวะก็ขาดทุนทันที
เข้าถูกจังหวะก็ร่ำรวยทันที  ไม่ต่างกับตลาดหุ้น
โอกาสที่โรงงานรมควันยางพาราชุมชนเจ๊งง่ายเช่นกัน

ปัญหาที่รองลงมาคือ ตอนนี้คนกรีดยางพาราส่วนมากเป็นพม่า
เวลากรีดยางพาราเจ้าของต้องตามใจคนกรีดยางพารา
เพราะหาคนกรีดยางพาราจากอีสาณยากแล้ว
รวมทั้งคนพม่าไม่ค่อยกล้าออกมาในเมือง
เพราะมักจะเจอการรีดไถ/หาเรื่องจับรีดเงิน
ส่วนมากจะอยู่แต่ในสวนยางพารา
จึงมีเวลากรีดยางมากขึ้นแล้วมีโอกาสเป็นแบบคาวบอย
คือ สวนไหนหน้ายางเสียหายก็จรไปที่อื่น
แต่คนดีก็มี คนชั่วก็มาก  เรื่องแบบนี้พูดลำบาก
เรียกว่าโชควาสนาของเจ้าของสวนยางไม่เหมือนกัน

สมัยก่อนคนกรีดยางพาราพม่า
มักจะนำเงินสดกลับเข้าพม่าทางระนอง
จึงมักถูกปล้นกลางทางทั้งทางฝั่งไทย
หรือเข้าไปในพม่าก็ถูกปล้นเช่นกัน
แต่ตอนนี้มีการโอนเงินโดยตรงไปได้
ปัญหาแบบนี้จึงหมดไปในระดับหนึ่ง

อีกปัญหาอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านไม่ชอบขายยางแผ่น
เพราะพ่อค้ามักจะท่องคาถาในใจสามคำ
คือ  ฉ้อ(โกง)  ขอ   หัก
ฉ้อคือ ตั้งแต่การชั่งน้ำหนักไม่ครบหรือขาดหายไป
ชาวบ้านบางคนชั่งน้ำหนักยางพารามาจากบ้านแล้ว
แต่เวลาชั่งที่ร้านรับซื้อยางพาราน้ำหนักมักจะหายไป
ทำให้ยื้อกับคนขายดึงลูกตุ้มชั่งน้ำหนักยางพาราไปมา
จนคนขายต้องใช้วิธีจ่ายเงินดันหลัง คือให้ก่อน 200-300 บาท
ให้ไปซื้อข้าวของ สูบบุหรี่ดื่มน้ำรอก่อน
อย่ามายุ่งในตอนชั่งน้ำหนักยางพารา

ขอ คือ เวลาชั่งน้ำหนักเสร็จแล้ว
ยางพาราที่มาขาย 100 กิโลกรัมขอซัก 1 กิโลกรัม
หรือซักครึ่งกิโลกรัม  หลาย ๆ คนก็ได้ฟรีมาจำนวนมากเช่นกัน

หัก คือ หัก % น้ำในแผ่นยางพารา
แม้ว่าจะตากยางแผ่นแห้งขนาดไหนแล้ว
เวลารมควันยางพาราจะมีอัตราน้ำที่หายไปในการรมควัน
เฉลี่ยถึงร้อยละ 20 ทีเดียวโดยประมาณ
เช่นน้ำยางเข้ารมควัน 10,000 กิโลกรัมจะมีน้ำหนักหายไปร่วม 200 กิโลกรัม
ดังนั้นคนตีน้ำ(น้ำในแผ่นยางพารา) เก่ง ๆ จะค่าตัวสูงมาก
หรือ หักค่าแผ่นยางสกปรกต้องตัดออกก่อนรมควัน
หรือหาข้อตำหนิว่ายางพารามีใบไม้ เศษดินปน  เป็นต้น
ส่วนที่หักก็คือ กำไรแฝงของพ่อค้าเช่นเดิม

ส่วนชาวสวนบางคนสมัยก่อนเวลาขายขี้ยาง
ที่ต้องปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ก่อนขาย
บางรายจะปนก้อนซีเมนต์ที่กระเทาะจากฝาบ้าน
หรือไปหาจากบ้านร้างใส่เข้าไปข้างใน
ทำให้ได้น้ำหนักก้อนขึ้ยางพาราเพิ่มขึ้น
โรงงานยางจิ้นฮงสมัยก่อนเจอเรื่องนี้
เครื่องจักรดังโคร่ง ๆ พังไปเลยหนึ่งตัว
เลยดัดลำด้วยการโยนให้แตกกระจาย
หรือเอามีดที่ทำจากแหนบรถยนต์ผ่าดูกันเลย

ปัญหาว่าเอายางพาราไปราดถนนร่วมกับยางมะตอย
เป็นเรื่องที่พูดคุยมาหลายปีแล้ว
แต่การพัฒนาสูตรในการทำต้องใช้เวลา
รวมทั้งเงินทุนในการรับซื้อน้ำยางพาราไปผลิต
การขนส่งน้ำยางพาราไปผลิต
กับปัญหาความนิ่งของน้ำยางพาราที่จะไปผลิต
เรื่องเหล่านี้ภาษาชาวบ้านมักจะพูดว่า
ทำกับปากง่ายเพ  ลองทำจริงหืดขึ้นคอ
หรือ ทำเกษตรกับกระดาษกับปาก รวยเพ
ทำจริงได้เป็นแสนทีเดียว (แสนสาหัส)

ส่วนต้นยางพันธุ์ที่ให้น้ำยางมาก ๆ
เท่าที่ทราบจากการพูดคุยของชาวบ้านตอนนี้มี
ของถ้ำพรรณนรา ที่พัทลุง กับของบ้านฉาง  นาทวี
แต่ข้อมูลนี้ยังไม่ยืนยันว่าจริงหรือไม่
เพราะพืชผลทุกอย่างขึ้นกับ ดิน น้ำ ลม ไฟ(แสงแดด)

เขียนขึ้นจากความทรงจำร่วมกัน
ก่อนที่จะปลิดปลิวหายไปเหมือนใบยางพาราที่ร่วงหล่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น