วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ขี้ยางพารา


ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ขี้ยางพารา

ในการกรีดยางพาราแต่ละครั้ง
หลังจากน้ำยางหยดลงในจอกเก็บน้ำยางพาราแล้ว
เมื่อเทน้ำยางพาราลงในถังแล้ว
ก็จะมีเศษน้ำยางพาราในจอกส่วนหนึ่งติดค้างอยู่
จับตัวเป็นก้อนแข็งสีขาวในจอก
ถ้ารอบนอกจอกก็จะเป็นเศษขี้ยางสีค่อนข้างคล้ำ
หรือสีค่อนข้างดำสกปรกบ้างเล็กน้อย

เพราะถ้าเป็นต้นยางพาราต้นใหญ่จะไหลช้า
ทำให้มีน้ำยางหยดลงมาเรื่อย ๆ แต่ค่อนข้างช้า
ชาวบ้านมักจะพูดว่า มีขี้ยางเยอะ
แต่ถ้าเป็นต้นยางเล็กน้ำยางจะหมดเร็วมาก
รวมทั้งเวลาจะกรีดใหม่ก็ต้องลอกเศษขี้ยางเดิมออกมา
เศษขี้ยางก็มักจะติดเศษไม้หรือผงไม้ออกมาบ้าง
การลอกขี้ยางพาราจากเปลือกต้นยางพารา
เพื่อทำให้สามารถกรีดยางพาราเป็นรอย/แนวใหม่ได้

ขี้ยางพารานี้แล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคนกรีดยางพารากับเจ้าของ
บางสวนยางพาราจะให้คนตัดยาง/คนกรีดยางพาราเปล่า ๆ
บางสวนยางก็จะขอแบ่งครึ่ง หรือขอแบ่งสิบห้าเปอร์เซ็นต์
แล้วแต่ความขี้เนียน ขี้ชิด หรือภาษาบางกอกเรียกว่า ขี้เหนียว

เศษยางพาราคนกรีดยางพารา
จะรวบรวมมาเป็นจำนวนมากแล้วมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ 
หรือบางรายก็นำขายแบบเป็นเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อย
บางคนก็จะนำเอาไม้ทุบก่อน 
เพื่อให้เศษไม้หรือเศษดินหลุดออกมา
เพราะบางครั้งน้ำยางพาราหยดหล่นบนพื้นดิน
หรือน้ำยางพาราหกคว่ำเจิ่งนองบนพื้นดิน
ต้องค่อย ๆ ลอกหรือแกะขึ้นมาจากพื้นดินมารวบรวมไว้
เวลาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ถ้ามีเศษขี้ดิน เปลือกไม้น้อย
ผสมปะปนไปขายจะได้ราคาดีกว่ามีสิ่งเจือปนมาก

แต่ชาวบ้านบางรายก็จะขายปนขี้ดิน ขี้โคลน หรือเศษไม้ไป
หรือบางคนจะแอบเอาก้อนหินใส่เข้าตรงกลางก้อนขี้ยางพาราปั้นกลม
เวลาชั่งน้ำหนักขายก็จะได้เงินมากกว่าเพราะมีน้ำหนัก
ผลก็คือเวลาโรงงานไปผลิตยางเครพ (ยางจากเศษยาง)
ก้อนหินจะกระแทกกับเครื่องจักรดังโครมคราม
เศษหินกระเด็นปลิวว่อน 
เป็นอันตรายกับคนงานที่ทำการผลิตได้ในบางครั้ง
รวมทั้งมีผลทำให้เครื่องจักรชำรุดทรุดโทรมไปก่อนเวลา

พ่อค้าคนกลางที่รับซื้อเศษขี้ยางพารา
เลยต้องใช้วิธีการตรวจจับแบบง่าย ๆ
โดยนำก้อนขี้ยางโยนลงบนพื้นปูนซีเมนต์
ถ้าไม่เด้งขึ้นมาเหมือนก้อนขี้ยางก้อนอื่น
ก็จะให้เอากลับไปเลยทั้งหมด
ไม่รับซื้อเศษขี้ยางเจ้านี้อีกเลย

แต่ถ้าไม่ไว้หน้ากันหรือไม่เชื่อใจกัน
ก็จะเอามีดผ่าตรงกลางดูกันเลย
หมายเหตุ ก่อนส่งโรงงานโดยมากจะผ่าครึ่งก่อนนำส่ง
โดยมากมีดที่จะผ่าเศษยางพารา
มักจะทำจากเหล็กแหนบรถยนต์
หรือจากใบเลื่อยต้นไม้ขนาดใหญ่
นำมาลับคมมีดจนคมจัด
จะผ่าก้อนยางพาราได้เหมือนตัดก้อนเต้าหู้

การลับคมมีดให้คมจะเป็นเรื่องปกติของคนตัดยางพารา
เพราะมีดกรีดยางพาราต้องคม
จึงจะสามารถตัดเปลือกยางได้เรียบและบาง
การทดสอบคมมีดว่าคมแล้วหรือยัง
บางรายจะใช้วิธีกรีดที่เล็บมือว่าเข้าหรือไม่
ถ้ากรีดเข้าได้ง่าย ๆ ก็ถือว่าคมเพียงพอแล้ว
บางรายก็จะใช้วิธีกันตรงจอนผม
สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งว่า
คนไหนเล็บแหว่งเป็นทาง ๆ
หรือมีเส้นผมแหว่ง ๆ ตรงบริเวณจอนผม
สันนิษฐานได้ว่ามากกว่าร้อยละเก้าสิบเป็นคนกรีดยางพารา

ราคาขี้ยางพาราสมัยก่อนกิโลกรัมละสองถึงสี่บาทเป็นอย่างมาก
แต่ตอนนี้ราคาประมาณครึ่งหนึ่งของยางแผ่นดิบ
หรือตกประมาณห้าสิบบาทถึงเจ็ดสิบบาทต่อกิโลกรัม
ทำให้คนกรีดยางพาราบางคน
จะขยันทำน้ำยางหกจากจอกเป็นประจำ
ก็จะได้ขี้ยางเป็นผลพลอยได้
หรือขยันเก็บขี้ยางพารามากกว่ากรีดยางพารา
หรือเปิดกรีดหน้ายางลึก ๆ หรือกว้างเพื่อได้ขี้ยางมาก ๆ
จะทำใ้ห้หน้ายางเสียเร็วหรืองอกออกมาไม่ทัน

คนกรีดยางพาราประเภทนี้
ถ้าเถ้าแก่(เจ้าของสวนยางพาราหรือผู้จัดการสวนยางพารา)
พบเห็นหรือทนพฤติกรรมไม่ไหว
มักจะบอกให้ออกไปกรีดยางพาราที่อื่นต่อไป
เรียกว่าเป็นประเภท มากรีดแล้วเดินไป
ไปหากินสวนยางพาราอื่นต่อไป
เร่ร่อนหาสวนยางพาราอื่นทำกินอีก 

แต่มีคนกรีดยางพาราบางคน
แถวบ้านน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ มีอยู่คนหนึ่งที่ลุงลัภย์รู้จัก
ร้องห่มร้องไห้เมื่อต้นยางพาราถูกพายุล้มลงหลายต้น
เพราะยางพาราที่ปลูกรากแก้วไม่ลึก
เวลาถูกลมพายุจะไม่สามารถยึดดินไว้ได้
(ไว้จะเขียนเกี่ยวกับการปลูกยางติดตาอีกสักบท)

แกร้องไห้เพราะแกว่า เถ้าแก่ดีมาก
ลำพังแกจะสร้างสวนเองก็ไม่มีปัญญาหรือมีเงินเพียงพอ
ที่ได้อยู่ได้กินมาตลอดก็จากรายได้การกรีดยางพารา
แกรักสวนยางพาราหรือต้นยางพาราที่แกกรีดเหมือนของตนเอง
เพราะต้องมีการดูแล ใส่ปุ๋ย ถางป่า ถางหญ้า ในบางครั้ง
ก็จะจำต้นไม้ที่ต้องกรีดยางพาราทุกต้นได้ทุกสัดส่วน
เหมือนคนเรือจะรักเรือของตน
คนขับรถยนต์รับจ้างก็จะรักรถยนต์ของตน
เพราะเคยชินและดูแลเอาใจใส่่ตลอด
ต้นยางอายุประมาณ 7 ปีก็เริ่มกรีดได้จนถึงไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าปี
เรียกว่าปีหนึ่งจะเจอต้นยางขาประจำไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยวันขึ้นไป
คนกรีดยางจะมีพื้นที่กรีดประจำของตนเอง
เรียกว่าของใครของมัน ไม่มีการกรีดปนมั่วแต่อย่างใด
เพื่อความสะดวกในการดูแล/บริหารจัดการ
และเป็นรายได้หลักของคนกรีดยางพารา
รายที่เก่ง ๆ จะได้ประมาณสูงสุดสิบห้าไร่ต่อวันทำการ
แต่มักจะทำคู่กันสองคนสามีภริยา
โดยมากภริยามักเป็นคนเก็บน้ำยาง
ส่วนสามีจะเป็นคนเดินกรีดต้นยางพารา

การกรีดยางพาราถ้าเป็นสวนยางขนาดใหญ่
ก็จะแบ่งหน้ากรีดต้นยางพาราเป็นสามส่วนหรือสี่ส่วน
กรีดยางพาราวันเว้นวัน หรือวันฝนตกตอนเย็นไม่กรีด
แต่ถ้าคนที่สวนยางพารามีเนื้อที่น้อยหรือมีภาระมาก
บางคนก็จะกรีดแทบทุกวัน
หรือแบ่งกรีดยางพาราเป็นสองหน้า(เปิดกรีดสองหน้า)
หน้ายางก็จะหมดเร็ว เพราะเปลือกอ่อนงอกมาไม่ทัน
ก็จะต้องใช้เปิดกรีดยางพาราแบบหน้าสูง
คือต่อไม้แล้วติดมีดกรีดยางพารากรีดยางพาราเสียสูงลิบ
แต่การเอาน้ำยางค่อนข้างยากเพราะอยู่สูง
ต้องต่อไม้ต่อเก้าอี้ในบางรายหรือไม้ค้ำยันให้ถ้วยยางลงมาเทได้

สุดท้ายบางรายก็ไม่ต่างกับเจ้าของสวนยางพาราบางราย
ที่มีต้นยางพาราเก่าแก่หรืออายุมากแล้ว
น้ำยางไหลไม่ค่อยดี หรือหน้ายางที่กรีดมีน้อย
ต้องเปิดกรีดยางพาราแบบหน้าสูง
ก็จะใช้วิธีอัดแก๊สหรือฉีดฮอร์โมน เพื่อเร่งน้ำยางพารา
ทำให้น้ำยางพาราไหลออกมามาก ๆ
ก่อนจะขอกองทุนสงเคราะห์สวนยางพารา
เพื่อล้มต้นยางพาราแล้วปลูกต้นใหม่ทดแทน
สภาพการทำแบบนี้ บางรายว่า เกินพอดี
เหมือนกับการสูบให้เลือดไหลไม่หยุด ไม่ช้าก็ตาย

คนรับซื้อไม้ยางพาราที่จะไปทำไม้สักขาว
โรงงานจะซื้อไม้ยางพาราไปอบแล้วอัดน้ำยา
จะได้ไม้ยางพาราสีขาวไม่มีเสี้ยนดำ
ต่างประเทศนิยมเรียกว่าไม้สักขาว
นำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนไม้ต่าง ๆ 
อายุการใช้งานที่สอบถามโรงงานผลิตแห่งหนึ่ง
บอกว่าจะมีการใช้งานตกประมาณยี่สิบปี
หรือพอน้ำยาในเนื้อไม้หมดก็จะขึ้นเสี้ยนดำ 
ส่วนมากก็จะนำไปทิ้งมากกว่าการแก้ไขดัดแปลง

แต่ถ้าต้นยางพาราที่ผ่านการอัดแก๊สหรือฮอร์โมน
คนรับซื้อไม้ยางพาราบางรายจะไม่รับซื้อ
หรือถ้ารับซื้อก็กดราคารับซื้อให้ต่ำมาก
มักจะอ้างว่า เนื้อไม้แห้งกว่าปกติหรือเบามาก
หรือไม้เป็นเสี้ยนมากกว่าไม้ยางพาราทั่วไป
หรือบางรายอ้างว่าไส้ในเนื้อไม้ยางพารามีสีดำ
เอาไปอบน้ำยาทำเฟอร์นิเจอร์ที่ได้ราคาไม่ได้
ต้องนำไปขายเป็นไม้ฟืนทั่วไป

หรือไม้หั่นซอย เป็นไม้ที่ผ่านเครื่องตัดย่อยแบบเครื่องย่อยเศษไม้
จะออกมาเป็นเศษไม้ชิ้นเล็ก ๆ เมื่ออบหรือตากแห้งดีแล้ว
โรงงานเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิงต้มหม้อไอน้ำ
จะเผาไหม้ดีกว่า ให้ความร้อนมากกว่า
การเผาไม้ฟืนแบบเป็นท่อนเหมือนสมัยก่อน
น่าจะเป็นเพราะการเผาไหม้ได้เร็วกว่าไม้เป็นท่อน ๆ

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ ร่วมกัน
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนต้นยางพาราที่ค่อย ๆ หายไปจากเมืองหาดใหญ่

ภาพประกอบจาก

http://www.oknation.net/blog/daoplatapean/2009/08/22/entry-1



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น