วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตบ้านคลองหวะ-ตำนานปฐมบท

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-ตำนานปฐมบท

บ้านคลองหวะ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เดิมจากคำบอกเล่าของชาวบ้านเรียกว่า บ้านทุ่ง
ที่เรียกว่า คลองหวะ เพราะเขาหวะคลอง
หรือ หวะ ที่ดักปลา คือ เล่ อยู่ริมคลองหวะ  
คลองหวะเป็นลำธารน้ำสายหนึ่งที่ไหลลงคลองอู่ตะเภา
ที่ไหลขึ้นทิศเหนือออกสู่ทะเลสาบสงขลา
น่าจะเป็นสายน้ำไม่กี่สายของประเทศที่ไหลจากใต้ขึ้นเหนือ
เช่นเดียวกับแม่น้ำคงคาของประเทศชมพูทวีป(อินเดีย)

คำว่า หวะ มีที่มาสองนัยคือ
1. การขุดเจาะที่ดินให้ทางน้ำไหลสะดวกขึ้น 
เพราะปิดกั้นขวางทางน้ำอยู่ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก 
มีผลต่อการทำให้น้ำท่วมขัง

2. แล่ เครื่องมือดักปลาประเภทหนึ่ง 
ที่ทำเป็นลำรางไม้ไผ่ยกขึ้นสูงกว่าเหนือน้ำเล็กน้อย 
เวลาปลาติดค้างอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านต้องแหวกหรือหวะ 
ให้ไม้ไผ่แยกออกจากกัน เพื่อให้ปลาบางส่วนได้หลุดออกจากแล่  
เพราะสมัยนั้นปลาในคลองหวะ มีจำนวนมากและเหลือกินเหลือใช้ 
ไม่มีตลาดหรือแหล่งขายรองรับ ตลอดจนการถนอมอาหาร
ก็ยังเป็นเรื่องเกินความจำเป็น การแสวงหาอาหารสด
จะเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่า เพราะไปเมื่อไรก็มีอาหารกิน

หมายเหตุ ปลาน้ำจืด คนใต้บางถิ่นจะเรียกว่า ปลาบก
และบางคนไม่นิยมกิน ตั้งข้อรังเกียจว่า คาวกว่าปลาทะเล

อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มี 
หรือมีก็ยังไม่จำเป็นมากนัก เพราะชีวิตยังเรียบง่าย
การไม่มีตู้เย็นจะทำให้ไม่ต้องหาอาหารสดมาเพื่อเลี้ยงชีพ
และทำให้ชุมชนมีความสัมพันธ์มากกว่าปกติ 
เพราะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

คลองหวะ ในสมัยก่อนอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลคอหงส์ 
ก่อนเปลี่ยนเป็นหมู่ 5 ในปัจจุบัน
เพราะการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนเป็นเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ 
ที่พัฒนามาจากเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง 
ไม่เคยผ่านการเป็นสุขาภิบาลอำเภอเหมือนกับหลาย ๆ แห่ง

ชาวบ้านสมัยก่อนแรกเริ่มจะมีอยู่ประมาณ 70 ครอบครัว
ปัจจุบันมีประมาณ 2,000 ครัวเรือน ประมาณห้าพันกว่าคน
ชาวบ้านมีอาชีพส่วนมากคือ ทำนา ทำสวน รับจ้างกรีดยางพารา  
ซึ่งมีการปลูกก่อนหน้านี้แล้วแถวควนลัง อำเภอหาดใหญ่ 
จังหวัดสงขลา เป็นสวนของคนจีน แบ่งรายได้กันอัตรา 50/50  
เพราะเป็นยางพันธุ์พื้นเมือง น้ำยางพาราน้อย 
หรือเป็นสายพันธุ์ที่เก็บจากใต้ต้นยางพาราจากสวนอื่น
หรือจากสวนยางพื้นเมืองมาเลเซีย 
โดยทำเป็นยางดิบแผ่นส่งขาย กลุ่มบริษัท ยิบอินซอย จำกัด
ที่มีศิลปินแห่งชาติคนหนึ่งคือ คุณมีเซียม ยิบอินซอย
เป็นชั้นลูกหลานคนหนึ่งของตระกูลนี้

ตามตำนานคำบอกเล่าเรื่องของพระยารัษฏานุประดิษฐ์  
ที่นำยางพารามาปลูกต้นแรกที่จังหวัดตรัง  
เพื่อขยายพันธุ์หรือส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักการปลูกยางพารา
ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า
มีการแอบนำเข้าจากมาเลเซีย 
โดยการฝังเข้าทางทวารของลูกน้องท่านจำนวนหนึ่ง  
เพื่อหลีกเลี่ยงหลบการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่รัฐมาเลย์
ก่อนมาปลูกขยายพันธุ์เริ่มต้นที่จังหวัดตรัง
เพราะสมัยนั้นมาเลเซียปลูกยางพารามาก 
และเจ้าอาณานิคมอังกฤษหวงแหนสายพันธุ์มาก

ส่วนการทำนาที่คลองหวะ  
จะทำนาดำทั่วไปหรือนาหว่าน
ที่ลุ่มทำนาดำ ที่ดอนทำนาหว่าน

นาดำต้องทำที่น้ำขัง
และมีการตกกล้า คือ หว่านพันธุ์ข้าวไว้ เรียกว่า ตกกล้า
พอได้เวลาก็ถอนต้นกล้ามาปักดำ

ส่วนนาหว่าน เอาพันธุ์ข้าวแช่น้ำไว้
พอเริ่มงอกราก ก็เอาไปหว่านแล้วไถกลบเรียกว่า นาหว่าน

นาสับกล้า เป็นพื้นที่นาที่มีการบุกรุกป่าไม้ที่มีอยู่มากในสมัยก่อน  
โดยการถางป่าแล้วโรยข้าว
ก่อนใช้จอบสับดินฝังข้าวลงไปให้งอกต่อไป

ส่วนบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ปัจจุบัน 
จะเป็นการทำนาปรัง คือปลูกได้เฉพาะข้าวหนัก  
หรือข้าวพื้นเมืองพันธุ์พิเศษ 
ที่เวลาน้ำท่วมจะสูงมากกว่าสองเมตรก็ยังมี 

ข้าวพันธุ์ขึ้นน้ำกับข้าวพันธ์น้ำลึก -ตาม Link นี้เลยครับ


ตัวอย่างภาพข้าวที่สูงพ้นน้ำท่วม ตาม -link อีกเช่นกัน


ภาพข้าวน้ำลึก Deep Water Rice จาก



เพราะเป็นที่น้ำท่วมขัง ปลูกได้ในช่วงหน้าฝนหมาด ๆ 
แต่เวลาฝนมามากจะน้ำท่วมขัง 
ทำให้พันธุ์ข้าวดังกล่าวต้องถืบยอดให้พ้นน้ำไป
เวลาข้าวรวงสุกแล้ว การเก็บเกี่ยวถ้าน้ำยังท่วมสูง  
สามารถใช้เรือก็เข้าไปใช้แกะ
(เครื่องมือเก็บข้าวแบบหนึ่งของภาคใต้) ไปเก็บเกี่ยวได้


แต่ถ้าน้ำแล้งลงมากแล้ว ข้าวยังคงมีความสูงอยู่มาก  
ก็ต้องใช้ไม้ไผ่ข่มกอข้าวให้ล้มลงแล้วถึงจะเก็บเกี่ยวได้
เรื่องการใช้แกะนี้ เคยอ่านเจอว่า กรมหลวงลพบุรีราเมศว์ร  
มีหนังสือบริพาธให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  
ทำนองตำหนิว่าคนใต้ขี้เกียจไม่พัฒนา  
เพราะไม่ยอมใช้เคียวเกี่ยวข้าวเหมือนภาคกลาง  
ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวช้ากว่าภาคกลางมาก  
แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ตอบกลับมาว่า 
ควรอนุโลมตามวัฒนธรรมและวิถีชิวิตชาวบ้าน

แต่จากการสอบถามชาวบ้าน ก็จะได้คำตอบว่า  
การใช้แกะ จะสามารถเลือกรวงข้าวสุกแยกออกจากรวงไม่สุกได้
รอให้สุกวันหลังค่อยมาเก็บเกี่ยว แต่ถ้าใช้เคียวก็จะต้องรวบหมด
และต้องตัดทั้งก้านสั้นก้านยาว คละปะปนกันไป
แต่แกะเลือกเฉพาะรวงที่ต้องการได้และก้านจะได้ไร่เรี่ยกัน

เมื่อได้ข้าวมาแล้วก็จะกองทับถมไปเรื่อย ๆ ในยุ้งฉางชาวบ้าน
ทำให้บางรายบอกว่าข้าวในยุ้งมีอายุมากกว่าห้าสิบปี
ก็น่าจะไม่งอกแล้ว เพราะทับถมกันมานาน
ชาวบ้านคงจะไม่ใช้แบบปัจจุบันที่เรียกว่า Fifo Lifo
หรือประเภทเข้าก่อน ออกก่อน อะไรทำนองนั้น

หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมจากลุงลัพย์ หนูประดิษฐ์
ที่ชาวบ้านเก็บข้าวด้วยแกะ
เก็บข้าวที่ละรวง เพราะคนโบราณเลือกเก็บข้าวที่สุกสมบูรณ์
เพราะไม่นิยมขายข้าวเปลือก เก็บไว้กินเอง
แล้วข้าวโบราณร่วงยาก
จะนวดข้าวก็ต้องนวดกับคน
ไม่เหมือนข้าวที่ใช้เคียวเกี่ยว
เป็นข้าวร่วงง่าย ไม่ต้องนวดใช้ฟัดเอา





สงสัยมานานว่าน้ำในคลองหวะมาจากที่ใดกันแน่
จากการสอบถามครูลัพภ์ ปราชญ์ภูมิปํญญาชาวบ้าน
ได้ความว่ามาจาก เขากลอย หนึ่งเส้น 
จากสถานีรถไฟนาม่วง(อำเภอนาหม่อม) ปลักธง ควนจง
และจากคลองหรั่ง ทำให้คลองสายนี้มีตะกอนทรายสะสมมาก
เป็นที่ต้องการของนักลงทุนที่อยากขุดทรายขายมาก
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยิ่งช่วงหน้าแล้งจะมีทราบมากเป็นพิเศษ

ภาพจาก http://www.google.com maps

สังเกตเส้นสีฟ้าจะเป็นสายน้ำที่ไหลมารวมกันก่อนมาจบที่คลองหวะ
แล้วก่อนจะไหลลงไปที่คลองอู่ตะเภา



ภาพจากดาวเทียม เส้นตรงคือ 
ทางรถไฟสายปัตเตอร์เวอธ์ท-ปาดังเบซาร์(ฝั่งมาเลย์)
สถานีสอง(ฝั่งไทยที่ปาดังเบซาร์) 
ถึง ชุมทางหาดใหญ่ 

ตรงนี้เคยมีตู้รถไฟตกรางตรงจันทร์วิโรจน์ 
ดีที่ไม่มีคนหรือรถยนต์ผ่านไปมา
และจะเห็นว่ามี คลองขุดจากเทศบาลเป็นเส้นตรงให้น้ำไหลลงคลองนี้
เดิมเป็นสายน้ำสาธารณะตื้น ๆ ทำนาได้ช่วงหน้าแล้ง
ต่อมาได้ขยายเป็นคลองระบายน้ำและมีจุดให้น้ำไหลลงคลอง 


ถนนลอดใต้สะพานรางรถไฟที่พาดข้ามคลองหวะ
เป็นทางรถไฟสายปัตเตอร์เวอทธ์-ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ 


ใต้สะพานจะเห็นบริเวณที่ชาวบ้านบางคนเรียกว่า คลองหวะ


กองทรายบริเวณภาพด้านบน  
ชาวบ้านมักจะมาขุดไปใช้งานเล็ก ๆ น้อย ๆ
ส่วนภาพที่ด้านล่างนี้เป็นสันทรายขนาดใหญ่  
ที่ทำให้ชาวบ้านสมัยเดิมต้องไปลอกออกมา
มิฉะนั้นน้ำจะท่วมขังนานในช่วงหน้าแล้ง  
เพราะไหลไม่สะดวก 


กองทรายอีกกองจากอีกจุดหนึ่ง


มองลอดใต้สะพาน


ปากท่อระบายน้ำที่มาจากคลองระบายน้ำเทศบาล 


สถานีระบายน้ำของเทศบาลนครหาดใหญ่


แท่งวัดระดับน้ำสูงสามเมตร
จากฝั่งคลอง และน้ำท่วมจะถึงระดับท้องคานสะพานรางรถไฟ
หรือบางครั้งท่วมรางรถไฟ 


วัวชาวบ้านริมฝั่งคลอง


วัวกับความเจริญของบ้านเมือง


ไม้เนื้อแข็ง น่าจะไม้ตะเคียนลอยน้ำมา
ชาวบ้านเลยตั้งเป็นเจ้าแม่ พร้อมก้ับหาหวย
อยู่ฝั่งคลองที่ชาวบ้านลงไปหาทราย 




ไว้มีเวลาว่างก็จะทะยอยเขียนเรื่องหมู่บ้านนี้อีกครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น