วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-หนูนา



ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-หนูนา

ในการทำนาข้าวนั้น
ถ้าผลผลิตหรือข้าวได้น้อย
ชาวบ้านก็มักจะบอกว่าเจ้าที่นาไม่ช่วย
โดยก่อนจะทำนาจะมีการเซ่นบวงสรวง
ด้วยไก่ หมู ขนมโค ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ขนมแดง ของหวาน
ปลามีหัวมีหาง หมายถึงปลาที่สมบูรณ์ทุกส่วน
(ไม่จำกัดว่าน้ำจืดหรือปลาทะเล)
โดยวางบนใบหางตอง (ปลายใบกล้วย)
จุดธูปเทียนไหว้ ที่บริเวณหัวคันนา
ไม่มีการตั้งศาลไว้ประจำแต่อย่างใด
เมื่อไหว้เสร็จแล้วก็จะนำข้าวปลาอาหารบางส่วน
วางทิ้งไว้บนใบหางตองเล็กน้อยเป็นพิธี
ส่วนกับข้าวส่วนมากก็จะนำกลับบ้านเรือน
ไปกินกันตามปกติหรือเลี้ยงดูกันระหว่างเพื่อนฝูง

การไถนาพรวนดินทำนาสมัยก่อน
ถ้าเป็นนาปรังก็จะใช้ควายมาเดินเวียน
โดยจะมีแม่ใหญ่ของควายเดินนำฝูงควาย
ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่มาเดินย่ำเข้าออก
เรียกว่าเดิมเวียนตามกันทั้งฝู'
จนกระทั่งถึงชายนาที่ต้องการ
เรียกว่าเป็นอะไรที่ควายรู้เรื่องและเข้าใจงานที่ทำ
เจ้าของแทบไม่ต้องบอกหรือสั่งว่าทำอะไรบ้างเลย

ส่วนนาดอนจะใช้ควายเทียมเดี่ยว
วัวเทียมคู่ในการไถนา
ดังนั้นเวลามีการฆ่าวัวควายกินกัน
ซึ่งส่วนมากมักจะซื้อมาจากแหล่งอื่น
ไม่จำกัดว่าเพศผู้เพศเมียในสมัยนั้น
จึงเป็นอะไรที่น่าสงสารจังในเรื่องนี้

หลังจากข้าวเริ่มตั้งต้นเป็นคอข้าว
คือยอดอ่อนเป็นเส้นตรง
ก่อนจะเริ่มผลิดอกออกรวง
มักจะเจอหนูนามากัดกิน
เพราะเป็นยอดอ่อนและหวานมัน
แม้แต่ชาวนาหรือเด็ก ๆ ก็ชอบกัดกินเล่นเช่นกัน
กัดกินทีเป็นไร่ ๆ เสียหายหมด
แล้วแต่มันจะชวนกันไปกัดกินไร่ไหนบ้าง
เพราะหนูมักจะมีเพื่อนมีพ้องมาก
มักจะชวนกันไปทำอะไรสนุก ๆ
หรือทำลายต้นข้าวชาวนา
บางทีก็กัดกินเป็นแปลงเว้นแปลง
นาปรังมักจะไม่มีเพราะน้ำท่วมขังอยู่

ชาวบ้านที่ถือเคล็ดถือลาง
จะไม่พูดคำหยาบหรือด่าทอแต่อย่างใด
มักจะบอกว่า ตัวอะไรไม่รู้ กินข้าวหมดแล้ว
น่ากลัววัวพระอินทร์มากินข้าว
ยังไงก็ช่วยหลีกไปให้พ้นที่อื่น ๆ บ้าง

แล้วลางเจ้าก็จะนำใบเต่าร้าง
ลงยันต์คาถามีไม้เสียบไว้
ไปปักตามหัวมุมนาสี่ทิศสี่มุมไว้
เป็นการบอกกล่าวหรือไล่หนูนา

แต่ถ้ามาก ๆ แล้วหรือบางรายเหลืออด
ก็จะทำพิธีกรรมบอกกล่าว  
พ่อเฒ่าหนู หรือทวดหนู หรือพญาหนูนา
ขอร้องว่า ขอขจัดปัดเป่าหนูพวกนี้
ที่คงไม่ใช่ลูกหลานของท่าน
เพราะถ้าเป็นของท่านคงจะเชื่อฟังไม่ทำอย่างนี้

จากนั้นก็เริ่มจัดการค้นหาตามต้นไม้
โดยมักจะเริ่มต้นกันตอนเช้าถึงกลางวัน
ส่วนมากมักจะอยู่ตามจอมปลวก
หรือตามดินดอนในทุ่งนา
ก็จะช่วยกันไล่ทุบ ไล่ตี
ตัวหนูนา ขนาดจะเท่ากับหรือใหญ่กว่ากระรอก
แต่คนละสายพันธุ์หรือคล้ายคลึงกัน
ชาวบ้านมักจะเรียกว่า หนูนาท้องขาว

ส่วนมากชาวบ้านมักจะนำมาย่างกินกัน
ที่นามาผัดเผ็ดกินไม่มากนัก
นำมาแกล้มกับหวาก
ทำจากน้ำตาลโตนด หมักให้ขึ้นฟอง
บางรายจะใส่ไม้เคี่ยม
ให้มีรสขมเหมือนหญ้าฮอปส์ที่ใส่เบียร์ให้ขม
ตัวหนูจะมีขนาดสามถึงสี่ตัว
จะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งกิโลกรัม
หนูนาจะมีท้องขาว ตัวสะอาด
ไม่เหมือนหนูตามบ้านเรือนในเมือง
ที่ตัวใหญ่สีดำสกปรก ดูน่ากลัว กว่า น่ากิน

เขียนขึ้นจากความทรงจำร่วมกัน
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนการทำทุ่งนาในหาดใหญ่

ในคราวต่อไปจะเขียนเกี่ยวกับ นกกินข้าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น