วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-สะพานไม้มีหลังคา


ชีวิตชาวบ้านคลองหวะ-สะพานไม้มีหลังคา

ในสมัยก่อนการเข้าออกหมู่บ้านคลองหวะ
ถ้าจะเข้าเมืองหาดใหญ่หรือมาจากหาดใหญ่
จะต้องข้ามลำคลองสองสายคือ
สายคลองเตยกับสายคลองหวะ
สายคลองเตยช่วงสุดสายสาม
แถว ๆ หลังถนนศรีภูวนารถปัจจุบัน
กับสายคลองหวะในปัจจุบัน
ถ้าไม่อยากเดินข้ามคลองทั้งสองเส้น
ต้องเดินเลียบทางรถไฟ
แล้วเดินบนสะพานรางรถไฟ
จึงจะเข้าเมืองหาดใหญ่ได้

แต่การเดินบนรางรถไฟ  
ถ้าเดินกันจริง ๆ แล้วไม่ค่อยสนุกเท่าไรนัก
เพราะก้อนหินแข็งบาดเท้าส่วนหนึ่ง
กับรางรถไฟมักจะลื่นเพราะคาบน้ำ
กับการเสียดสีของรถไฟที่วิ่งไปมา
ทั้งยังต้องระมัดระวังรถไฟที่สัญจรไปมาด้วย

สายคลองเตยที่เห็นเป็นคลองคอนกรีต
ในปัจจุบันสร้างขึ้นมาในภายหลัง
สมัยนายกเคร่ง ทำขึ้นมาเพื่อเป็นคลองระบายน้ำท่วม
ให้ไหลลงคลองหวะออกสู่คลองอู่ตะเภาได้เร็วขึ้น
แต่เดิมเป็นลำรางเล็ก ๆ มีน้ำไหลมากในช่วงหน้าฝน
แต่พอหน้าแล้งจะพอทำนาหรือปลูกพืชล้มรุกได้บ้าง
หรือบางจุดก็มีสภาพเป็นปลักเป็นหย่อม ๆ

ต่อมากำนันวร ทวีรัตน์
ได้ขอไม้จากเถ้าแก่และคนจีนในหาดใหญ่ 
เพื่อนำมาสร้างสะพานให้ชาวบ้านสร้าง
กำนันเป็นนักเลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยก่อน
เป็นที่นับหน้าถือตาและชาวบ้านให้ความเคารพเชื่อฟังมาก
เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่อง กำนันวร ทวีรัตน์ 
ไว้สามเรื่องแล้วอยู่ในคลังกระทู้

ส่วนแรงงานในการสร้างสะพาน
ตลอดจนข้าวปลาอาหารก็เกณฑ์จากชาวบ้าน
ซึ่งชาวบ้านต่างยินดีให้การช่วยเหลือ
เพราะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านเองในการเดินทางสัญจร
รวมทั้งในสมัยก่อนแรงงานมีเหลือเฟือ
กับเป็นการช่วยเหลือชุมชนด้วยกัน
มักจะไม่มีการนำเรื่องเงินทองค่าจ้างมาเป็นแรงจูงใจ
เป็นเรื่องของน้ำจิตน้ำใจที่มีต่อกันมากกว่า

สะพานจุดที่มีหลังคาคือ เส้นข้ามคลองหวะ
สมัยนั้นสะพานในภาคใต้
มักจะสร้างหลังคาไว้
ให้เป็นที่หลบฝนของชาวบ้านที่เดินทางไปมา
เพราะภาคใต้ฝน มักจะตกชุกเป็นประจำ
เป็นเรื่องของน้ำจิตน้ำใจที่มีให้แก่กัน
กับเป็นที่นั่งเล่นคุยเล่นกันของชาวบ้านละแวกนั้น
ในยามที่เสร็จจากงานประจำวันแล้ว

จำได้ว่า ผู้เขียนเองก็เคยไปนั่งหลบฝน
เพราะขับจักรยานไปเก็บลูกยาง
ที่สวนยางพาราเต๊อะหยาง (ชื่อเรียกสมัยนั้น)
เก็บไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าฝนตกหนัก
เลยต้องไปหลบฝนที่สะพานแห่งนี้
ตรงทิศตะวันออกของทางเข้าสะพานด้านซ้ายมือ
ถ้าหันหน้าลงทิศใต้ของสะพาน
จะมีม้านั่งยาวให้ชาวบ้านนั่งหลบฝนได้
แต่ถ้าฝนตกหนัก ๆ ก็เปียกปอนเหมือนกัน
เพราะฝนมักจะสาดใส่ทางด้านข้าง

ในสมัยนั้นที่ยังจำได้แม่นคือ
ไม่ได้เดินทางเข้าไปในหมู่บ้าน
เพราะสภาพข้างทางยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ๆ
ดูน่ากลัวและมืดทึบกับเงียบสงบ
สองข้างทางก็ยังเป็นป่ายางพารากับป่าเสม็ด
คลองหวะในฤดูน้ำหลาก
ก็ดูน่ากลัว น้ำไหลเชี่ยวแรงมาก

ก่อนเข้าหมู่บ้านสมัยนั้นจะผ่าน หน้าศพ 
เป็นหลุมศพที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก
คือ ที่ฝังศพของ คุณพ่อขุนนิพัทธ์จีนนคร
ชาวบ้านมักจะรู้กันว่า ถ้าไปหน้าศพ 
มีสองความหมายคือ เข้าเมือง 
กับไปเลี้ยงวัวแถวหน้าศพ
เพราะเป็นลานโล่งมีพื้นที่ราบกว้างขวาง
มีหญ้าขึ้นจำนวนมากและประปราย
จึงเป็นที่เลี้ยงวัวของชาวบ้านคลองหวะสมัยนั้น

ปัจจุบันมีการย้ายสุสานดังกล่าวแล้ว
ไปทำการฝังใหม่ที่แถวตำบลน้ำน้อยในปัจจุบัน
พร้อมกับศพของขุนนิพัทธ์จีนนคร

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนสะพานไม้มีหลังคาในอดีต 

ภาพสะพานไม้มีหลังคา ใกล้เคียงกับสมัยอดีตครับ
เป็นภาพถ่ายที่ประเทศลาว จาก link นี้ครับ


http://www.pixgang.com/webboard/showthread.php?t=2141






ส่วนนี้คือ ภาพประกอบลูกยางพารา



สมัยเด็กก็ชอบเอาลูกยางพาราสองลูก
มาประกันด้านที่ลื่น ๆ ไม่ใช่ด้านมีเส้นสัน
ประกบเสร็จก็เอามือทุบ(ด้านสันมือ)
หรือเรียกว่า มาตอกกัน สนุกดี
ลูกยางพาราลูกไหนแข็งมาก 
มักจะสีออกทองแดง หรือออกขาวเหลือง

บางคนจะแอบเอาเทียนไข
หลอมละลายค่อย ๆ หยดเข้าไปในรูที่ยางจะงอกออกมา
โดยแคะเอาไส้ยาง(เมล็ดภายในที่จะงอกออกมาเป็นต้น)
แงะออกมาให้หมด เหลือแต่ข้างในกลวง 
แล้วหาอะไรยาให้เหมือนของธรรมชาติ
มักจะคลุกกับดินโคลนและใบไม้ให้ดูเก่า ๆ
เอามาตอกของเพื่อนให้แตกไปเลย
แต่ถ้าจับได้จะแพ้ฟาล์ว หรือเพื่อนด่าเอา
เป็นการเล่นที่ผิดกฎกติกาสากล

อีกวิธีคือ เล่นขบวนรถไฟ
มียางพาราลูกหนึ่งเป็นหัวรถจักรรถไฟ
ที่เหลือคือหางยาวเหมือนขบวนตู้รถไฟ(โบกี้)
ทอยด้วยลูกยางพาราหนึ่งลูกในระยะที่ตกลงกันไว้
ทอยได้หัว(โยนถูกหัวขบวนกระเด็นออกไป)
ก็กินหางขบวนทั้งหมด
ถ้าทอยตรงกลางก็ได้แค่หางขบวน
ที่อยู่ตามหลังลูกยางพาราที่กระเด็นออกไป
เจอคนทอยเก่ง ๆ จ๋อยเหมือนกันครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น